ผลศึกษา บ่งชี้เรื่องการทำเบร็กซิต มีความเชื่อมโยงกับเรื่องการใช้ยารักษาอาการซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นในสหราชอาณาจักร

21 พฤศจิกายน 2561, 21:26น.


ซีเอ็นเอ็น รายงานอ้างผลการศึกษาร่วมของคณะนักวิจัยจากวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ของสหราชอาณาจักรกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ ซึ่งศึกษาข้อมูลการสั่งจ่ายยารายเดือนในสหราชอาณาจักรตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2554-2559 ว่า จำนวนคนไข้ที่แพทย์สั่งจ่ายยารักษาอาการซึมเศร้าในสหราชอาณาจักรเพิ่มมากกว่ายาอื่นๆ ร้อยละ 13.4 หลังการลงประชามติ ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป(อียู)ของสหราชอาณาจักรหรือเบร็กซิตเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559



คณะนักวิจัย เชื่อว่า ปัญหานี้อาจจะมีสาเหตุมาจากความวิตกกังวลเรื่องอนาคตที่ไม่ชัดเจนของประเทศ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ โอกาสมีงานทำ การโยกย้ายที่ทำการใหญ่ของบริษัทเอกชนและความหวั่นวิตกว่าพลเมืองจากกลุ่มอียู จะทำงานในสหราชอาณาจักร โดยได้รับสิทธิ์ประโยชน์ด้านต่างๆเหมือนเดิมหรือไม่ คณะผู้วิจัย ได้เสนอแนะว่า รัฐบาล ควรจะขยายบริการด้านสาธารณสุขให้เพิ่มมากขึ้น



ด้านผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมถึงนายเอียน เดวิด คัมมินส์ อาจารย์จากคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยซัลฟอร์ด สหราชอาณาจักร เชื่อว่า การปรับลดงบค่าใช้จ่ายของภาครัฐในภาพรวมก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนในสหราชอาณาจักร มีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเช่นกัน สอดคล้องกับรายงานของสหประชาชาติเมื่อเร็วๆนี้ที่ระบุว่า มาตรการประหยัดค่าใช้จ่ายของสหราชอาณาจักร จะมีผลให้ประชากรราว 14 ล้านคนหรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด 60 ล้านคน จะมีชีวิตความเป็นอยู่ยากจนลง



ทีมต่างประเทศ



CR: www.azerbaycan24.com.



 

ข่าวทั้งหมด

X