บีโอไอเห็นชอบมาตรการพิเศษเพื่อสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ส่งเสริมการแข่งขันของประเทศ

19 พฤศจิกายน 2561, 13:29น.


หลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 


นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการพิเศษกระตุ้นการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมภายในปี 2562 มีผลบังคับใช้กับคำขอที่ยื่นตั้งแต่วันนี้ - สิ้นปี 2562 ในโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และกิจการในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรืออุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี ภายใต้เงื่อนไขโครงการที่มีเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาทในทุกกิจการ ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี สถานประกอบการ อยู่ในทุกพื้นที่ ยกเว้นกรุงเทพฯและดำเนินการตามกำหนดเวลา และเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก มีผลบังคับใช้กับคำขอยื่นตั้งแต่ 2 มกราคม 2562-สิ้นปี 2563 เน้นให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าไปสนับสนุนองค์กรท้องถิ่น มีเงินลงทุนขั้นต่ำแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท และจะต้องสนับสนุน ไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อราย พร้อมขยายขอบข่ายผู้รับ จากเดิมเฉพาะด้านเกษตรครอบคลุมอุตสาหกรรมเบา กิจการท่องเที่ยวชุมชน ส่วนผู้ให้จากเดิมเฉพาะกิจการเกษตรขยายครอบคลุมทุกประเภทกิจการทุกประเภทที่ได้รับส่งเสริมตามมาตรการ จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี


ด้านมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและดิจิตอล ได้เห็นชอบเพิ่มพื้นที่จาก 300 ตารางเมตร เป็น 1,000 ตารางเมตร และเห็นชอบการส่งเสริมกิจการประเภท market Space เพื่อให้บริการเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับห้องปฏิบัติการใช้สร้างงานนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบ มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน จะได้รับสิทธิ์ประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร รวมทั้งอนุมัติเปิดการส่งเสริมประเภทกิจการ Co-Working Space  เสริมภาวะแวดล้อมเชื่อมโยงกับนักพัฒนาของไทย ภายใต้เงื่อนไขจัดพื้นที่บริการไม่น้อยกว่า 2000 ตารางเมตร เงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร 


นอกจากนี้ ยังอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการ รวมกว่า 21 ล้านบาท ประกอบด้วย การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กเงินลงทุน 7,693 ล้านบาท ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยขยายฐานการผลิตจากโรงงานผลิต 5 แห่ง ในประเทศจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รองรับตลาดแถบอาเซียน พร้อมรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric vehicles) เงินลงทุน 11,481. 6 ล้านบาท ในพื้นที่จังหวัดระยอง และรับส่งเสริมการลงทุนกิจการเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเงินลงทุน 2,600 ล้านบาท ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดระยอง โดยเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรองรับการต่อยอดงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ 


ในวันนี้ยังได้มีการพูดถึงภาพรวม การลงทุนในช่วง 9 เดือนตั้งแต่มกราคม-กันยายน 2561 มีโครงการขอรับการลงทุน 1,125 โครงการ เงินลงทุน 377,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปี 2560 ร้อยละ 10 โดยในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 69 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 525 โครงการ รวม 290,482 ล้านบาท อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ขยายตัวร้อยละ 15  มีจำนวน 288 โครงการ มูลค่าลงทุน 230,554 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 117 โดยคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าที่ได้ตั้งไว้ในปีนี้


...


ผสข.เกตุกนก ครองคุ้ม
ข่าวทั้งหมด

X