ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา เตือนกัญชายังไม่สกัดมีผลกระทบต่อสมอง

14 พฤศจิกายน 2561, 16:22น.


เวทีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่อนปรน กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์  จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ได้กล่าวถึงข้อมูลการใช้กัญชาในทางสุขภาพจิต ว่า จากงานวิจัยพบกัญชาที่ยังไม่สกัด หากใช้เป็นเวลานานในปริมาณมาก มีโอกาสเกิดการเสพติดได้ ส่วนในกัญชาที่สกัดแล้ว มีโอกาสลดความเสี่ยงจากพิษข้างเคียงหรือจากการเสพติดได้ งานวิจัยหลายชิ้นจึงมักสนับสนุนการใช้กัญชาที่ผ่านการสกัด แต่ยังมีข้อห่วงใย คือการใช้กัญชาในเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี เพราะมีผลข้างเคียงเรื่องความจำ สมาธิ ความคิด ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองให้ลดลง อีกทั้งยังมีแนวโน้มเป็นอย่างถาวร



นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเกิดอาการทางจิต จึงไม่แนะนำให้ใช้กัญชาที่ยังไม่ผ่านการสกัด ในเด็กและเยาวชน หากจำเป็นต้องใช้รักษาโรคปริมาณที่เหมาะสม จะต้องศึกษาและต้องมีการควบคุมทางการแพทย์ ขณะเดียวกันยังมีข้อห่วงใยการใช้กัญชา ที่ยังไม่สกัดในผู้ป่วยทางจิต เนื่องจากทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลง ส่วนในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่ากัญชาสามารถรักษาได้จริง ในอนาคตหากสามารถควบคุมปริมาณได้ ก็น่าจะนำมาสู่งานวิจัยเพื่อหาแนวทางต่อไป



นายแพทย์บุรินทร์ ยังกล่าวว่า ปัจจุบันไม่แนะนำ การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการหรือความสนุกสนาน เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง จากกัญชาที่ยังไม่ได้สกัด ที่ทำให้เกิดอาการหลอน หวาดระแวงในระยะสั้น พร้อมแนะนำการใช้กัญชาจะต้องมีแพทย์ควบคุม และในการรักษาโรคควรระบุว่าใช้กัญชาหรือใช้สารสกัดใดด้วย





เช่นเดียวกับนายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ทางการแพทย์ จะมีประสิทธิภาพ กว่าการใช้โดยไม่ผ่านกระบวนการสกัด อีกทั้งการสกัดยังทำให้ไม่มีสารพิษตกค้าง จากข้อมูลวิจัยทั่วโลกยืนยันการใช้สารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ ในโรค กลุ่มเด็กที่มีอาการชัก กลุ่มผู้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการใช้สารต้านมะเร็ง และกลุ่มผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ซึ่งประเทศไทยกำลังคลายล๊อคเพื่อนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์หรือการวิจัย ขณะที่ปริมาณค่า THC ที่สกัดได้จากต้นกัญชา ในปริมาณที่เหมาะสมยังไม่สามารถตอบได้ขึ้นอยู่กับการใช้รักษาในแต่ละโรค



สำหรับในการอภิปรายวันนี้ยังมีผู้แสดงความคิดเห็น การใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการชักในเด็ก โดยในระยะยาวยังไม่ทราบผลที่จะเกิดขึ้น แต่เห็นว่าข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ต่องานวิจัยที่จะต่อยอดไปยังรายงานการปลดล๊อค และเชื่อว่าข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ จะช่วยให้รายงานทางวิชาการมีความรอบด้าน เพราะการคลายล็อคกัญชานั้น จะต้องอาศัยทั้งข้อมูลทางวิชาการและด้านกฎหมายประกอบกัน

ข่าวทั้งหมด

X