รมว.พณ.ยืนยันว่า จะไม่ออกสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติให้ผู้ขอทุกราย

12 พฤศจิกายน 2561, 14:29น.


กรณีมีข่าวว่ามีบริษัทต่างชาติมายื่นคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า มีบริษัทต่างชาติมายื่นคำขอจดสิทธิบัตรจริง แต่ไม่ขอบอกว่ามีกี่บริษัท โดยกระทรวงยืนยันว่า จะไม่ออกสิทธิบัตรให้ผู้ขอทุกราย เนื่องจากตามกฎหมายสิทธิบัตรไม่ให้ความคุ้มครองสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติ ดังนั้นสารสกัดกัญชาจึงไม่อาจนำมาจดสิทธิบัตรได้ ส่วนที่ยื่นคำขอมาก็เป็นสิทธิของผู้ยื่นที่ยื่นได้หากเอกสารครบ กระทรวงไม่มีอำนาจห้าม มีหน้าที่แค่พิจารณาว่าจะอนุมัติสิทธิบัตรหรือไม่ ยืนยันว่าถึงขณะนี้ไม่มีการออกสิทธิบัตรให้ผู้ใด ส่วนที่เข้าใจกันว่ากระบวนการออกสิทธิบัตรไปถึงขั้นประกาศโฆษณา 90 วันนั้น ยอมรับว่าไปถึงกระบวนการนั้นจริง แต่ยังไม่ถือว่าได้รับการคุ้มครอง เพราะมีอีกหลายกระบวนการที่ต้องพิจารณา และภายใน 5 ปีหลังประกาศโฆษณา หากผู้ยื่นคำขอไม่ยื่นขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ คำขอสิทธิบัตรก็จะตกไปเอง





ส่วนอนาคตหากจะยื่นจดสิทธิบัตรที่มีกัญชาประกอบนั้น การประดิษฐ์ที่ยื่นขอจดสิทธิบัตรต้องมาจากการคิดค้นดัดแปลงและต้องไม่ซ้ำกับผู้อื่นในประเทศ ที่สำคัญต้องไม่ใช่การนำสารสกัดกัญชามายื่นจด โดยผู้ยื่นจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติก็ได้ ทั้งนี้ กัญชา ยังมีสถานะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และอยู่ในขั้นศึกษานำมาใช้เท่านั้น ส่วนตัวสนับสนุนให้นำกัญชามาใช้เป็นพืชเศรษฐกิจ เพราะมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกในอนาคต



ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบายเพิ่มว่า อนาคตแม้ปลดล็อคกัญชาแล้ว ก็ไม่สามารถออกสิทธิบัตรรับรองการประดิษฐ์ที่มีสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติให้ได้ เพราะติดข้อกฎหมายสิทธิบัตร และยังไม่มีแนวคิดแก้กฎหมายนี้ ทั้งไม่ขอตอบว่ากฎหมายสิทธิบัตรล้าหลังหรือไม่ แล้วแต่จะพิจารณา เพราะแต่ละประเทศก็คุ้มครองไม่เท่ากัน พร้อมรับว่ามีผู้มายื่นขอจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตั้งแต่ปี 2553 และออกประกาศโฆษณาไปตั้งแต่ปี 2559 หลังจากนั้นก็ไม่มีใครมายื่นคัดค้าน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ผู้ยื่นขอต้องยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ แต่ยังไม่มีผู้ใดยื่นคำขอมา แต่หากมีคำขอก็จะตกไปในกระบวนการนี้ เพราะในขั้นตอนนี้กฎหมายไม่ให้การรับรองสารสกัดกัญชา





ทั้งนี้ ผู้ยื่นอาจเปลี่ยนใจไปยื่นคำขอที่ประเทศอื่นแทนและนำสินค้ามาขายในไทยได้ แต่ก็จะถูกลอกเลียนแบบได้ เพราะไม่ได้รับการจดสิทธิบัตรในประเทศไทย ทั้งนี้ หากคนไทยต้องการวิจัยกัญชา ในแง่กฎหมายสิทธิบัตรก็สามารถทำได้ในตอนนี้



ผู้สื่อข่าว: ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร   



 



 

ข่าวทั้งหมด

X