การเตรียมการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความพร้อมก่อนการเลือกตั้ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ชี้แจงว่า ในวันที่ 11 ธ.ค. 2561 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้ เพื่อจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หรือภายในวันที่ 9 พ.ค. 2562 แต่พรรคการเมืองยังไม่สามารถหาเสียงได้ จนกว่าจะมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. คาดว่า จะมีการประกาศในช่วงวันที่ 16-27 ธ.ค.2561 เพื่อให้พรรคการเมือง สามารถหาเสียง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร ส.ส. รวมถึงเขตการเลือกตั้ง หลังพระราชกฤษฎีกาประกาศใช้ 5 วัน ขณะเดียวกัน การปลดล็อคพรรคการเมืองตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเกิดขึ้นพร้อมกันหรืออาจช้ากว่าเพียง 1 วัน หลังพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวประกาศใช้ แต่ยอมรับว่าต่อให้มีการปลดล็อค คำสั่ง คสช. ก็อาจติดล็อคเรื่องการหาเสียงพรรคการเมือง ตามมาตรา 67, 173 ,174 ,175 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับ กกต. ที่เป็นผู้กำหนดวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง
ส่วนการเริ่มคิดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง จะเริ่มนับเมื่อพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้
ขณะที่วันเลือกตั้ง นายวิษณุ ยืนยันว่า อาจมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562 และ กกต. จะนับคะแนนในเดือนมี.ค.2562 รวมถึงจะประกาศผลการเลือกตั้ง ไม่เกินวันที่ 24 เม.ย. 2562 ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าต้องประกาศภายใน 60 วันนับจากวันเลือกตั้ง จากนั้นภายในวันที่ 8 พ.ค. 2562 จะเปิดรัฐสภา เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา พร้อมเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงคณะรัฐมนตรี 35 คน นำขึ้นโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หลังแต่งตั้งภายใน 15 วัน ครม. ชุดใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน และต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในเดือน มิ.ย.2562 ขณะที่วันที่ 22-23 มิ.ย. จะมีการประชุมอาเซียน ซัมมิท ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเป็น ครม.ชุดใหม่หรือเก่าเข้าร่วมประชุม แต่ที่ผ่านมาก็เคยมีรัฐบาลชุดเก่าเข้าร่วมประชุมโดยไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. มีข้อสั่งการให้ชี้แจงให้ประชาชนรับทราบปฏิทินดังกล่าวในทิศทางเดียวกัน โดยไม่เป็นความลับ
นายวิษณุ ระบุว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ใช่รัฐบาลรักษาการอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะรัฐบาลรักษาการ จะเกิดขึ้น 4 กรณี คือนายกรัฐมนตรีสิ้นสภาพ ครม. ลาออกจากตำแหน่ง ยุบสภา และกรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระ 4 ปี อีกทั้งรัฐบาลรักษาการ จะไม่สามารถนำเสนอโครงการ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ อนุมัติงบประมาณที่มีผลผูกพันกับรัฐบาลหน้า และใช้ทรัพย์สินภายใต้เงื่อนไข ขณะที่ ครม.ชุดนี้ รวมทั้ง คสช.จะสิ้นสภาพพร้อมกันเมื่อครม.ชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ส่วนการปฏิบัติตัวของ ครม. หลังจากนี้ แบ่งเป็น 2 ชุด คือ ครม. ที่เกี่ยวพันกับพรรคการเมืองต้องระวังเรื่องการใช้เวลาทรัพย์สิน บุคลากรและสถานที่ทางราชการ ส่วน ครม. ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง รวมถึงนายกรัฐมนตรี จะต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองไม่ใช้ตำแหน่งเพื่อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองที่ชอบและไม่ชอบ พร้อมย้ำว่าปฏิทินดังกล่าวเป็นข้อปฏิบัติของ ครม. ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมระหว่าง คสช. กกต. และพรรคการเมือง ซึ่งไม่ทราบว่าการจัดประชุมดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อใด เนื่องจากเป็นเรื่องของ คสช. อีกทั้งในช่วงนี้ นายกรัฐมนตรี ยังติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศหลายภารกิจ
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม