การเสวนา ในหัวข้อปาล์มน้ำมัน จากพืชเพื่อการบริโภคสู่พืชพลังงาน ของพรรคภูมิใจไทย เพื่อนำผลของการเสวนาเป็นแนวทางกำหนดนโยบายพรรคในการช่วยเหลือประชาชน และเกษตรกร โดยนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สหภาพยุโรป (EC) มีความพยายามควบคุมน้ำมันปาล์มที่เป็นอาหาร และในปี 2020 มีมติยกเลิกใช้ปาล์มน้ำมัน ทำให้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันส่วนของ EU หายไป ผลกระทบที่จะเกิดกับไทยคือราคาปาล์มตกต่ำ เกิดผลต่อเกษตรกรในระยะยาวพร้อมเสนอความคิดเห็นปรับโครงสร้างปาล์มน้ำมันจากการผลิตเพื่อบริโภค เป็นการผลิตเพื่อกระแสไฟฟ้า โดยใช้วัตถุดิบของปาล์มทั้งหมด มีผู้เกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแปรรูปหรือโรงงานสกัด และโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า มีรูปแบบการติดตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าใกล้กับโรงสกัดเพื่อลดค่าใช้จ่ายภาคการขนส่ง ขณะที่ ผลกำไรที่ได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้า ก็จะถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ทำให้ทั้งเกษตรกรโรงงานสกัดและโรงงานผลิตไฟฟ้า ได้รับประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันที่ผ่านมามุ่งเน้นเพื่อบริโภค เห็นว่าถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เกษตรกรมีส่วนร่วม เชื่อว่า หากสามารถทำได้ จะเกิดความมั่นคงกับเกษตรกร อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายรองรับที่เกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์ของทุกฝ่ายด้วย เพื่อให้ได้รับความเท่าเทียม
นายอธิราษร์ ดำดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาข้อเรียกร้องของเกษตรกรไร้ความเคลื่อนไหวจากคณะกรรมการจนทำให้ตลาดปาล์มน้ำมันไร้การควบคุมหรือการกำกับดูแล ข้อเสนอแนะที่ให้เกษตรกรหาอาชีพอื่น ทั้งที่ปาล์มน้ำมันทำเม็ดเงินให้ประเทศหลายล้านๆ บาท และเกษตรกรคงไม่สามารถทิ้งอาชีพได้ ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องดูแลคือการให้ความยั่งยืนกับอาชีพ การรับฟังคนในพื้นที่เพื่อบริหารจัดการ ซึ่งอยากเห็นรัฐบาลไม่ว่าชุดใดก็ตาม เอาใจใส่ทุกข์สุข และเข้าใจปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างแท้จริง หากไม่มีการแก้ไขปัญหาจากส่วนที่เกี่ยวข้อง อีกไม่นานก็จะเกิดขึ้นคือภาวะรัฐไร้รัฐ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ค้าปาล์มน้ำมัน กลุ่มโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน จะร่วมกันศึกษา สร้างโมเดล วางระบบกลาง ระบบประเมิน โครงสร้างราคา เพื่อปฏิบัติกันเอง เพราะการเรียกร้องสิ่งต่างๆ จากส่วนกลางไม่มีความคืบหน้า และมองว่าการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันไม่ใช่การอุ้มเกษตรกร แต่เป็นการแก้ปัญหาทั้งระบบ ไม่โยนปัญหาไปเรื่อยๆ พร้อมอยากให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองในเรื่องนี้ เพราะเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องที่เชื่อมโยงกับการเมือง แต่เป็นเรื่องปากท้องประชาชน ส่วนในอนาคตนโยบายของรัฐบาลใดก็ตาม ต้องมาจากข้างล่าง คือ เกษตรกร ผู้ประกอบการ เพราะจะสามารถแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและแท้จริง
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม