การปรับปรุงทางเท้าบริเวณจุดเชื่อมระหว่างทางลงรถไฟฟ้า BTS สถานีหมอชิต และบริเวณทางออกประตู 1 รถไฟใต้ดิน สถานีหมอชิต หลังมีการเผยแพร่ภาพผ่านสังคมออนไลน์ในจุดดังกล่าวฝั่งขาออกมุ่งหน้าไปแยกลาดพร้าว เกิดน้ำท่วมขังเมื่อช่วงฝนตก ทำให้ประชาชนไม่สามารถเดินบนทางเท้าได้ อีกทั้งยังไม่มีหลังคากันแดด กันฝนในจุดเชื่อมดังกล่าว
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจงว่า เนื่องจากบริเวณทางออกประตู 1 รถไฟใต้ดิน สถานีหมอชิต แต่เดิมมีลักษณะเป็นพื้นที่เว้า และเป็นจุดจอดของรถแท็กซี่ ต่อมาสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้ปรับปรุงให้เป็นทางเท้า แต่พบว่ามีพื้นที่ต่ำกว่าทางเท้าเดิมที่มีอยู่จึงเกิดลักษณะแอ่งกะทะ ระยะทาง 25 ตารางเมตร ทำให้น้ำท่วมขังทางเท้าเมื่อฝนตก โดยช่วง 5 วัน สำนักการโยธา ได้เสริมพื้นทางเท้าให้มีความสูงเท่ากัน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังดังกล่าวแล้ว
ส่วนที่มีการร้องเรียนเรื่องหลังคาบังแดดบังฝนในจุดเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้า BTS และรถไฟใต้ดิน สถานีหมอชิต ได้สั่งการให้สำนักการจราจรและขนส่ง ประเมินราคาการจัดทำหลังคา ออกแบบก่อนเริ่มดำเนินการจัดทำ ตั้งแต่ทางลงรถไฟฟ้า BTS เชื่อมรถไฟใต้ดิน ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก ด้วยความยาวประมาณ 20-30 เมตร ความกว้างประมาณ 5-6 เมตร คาดว่าเมื่อเริ่มติดตั้งหลังคาจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน ด้วยวงเงินงบประมาณไม่เกิน 500,000 บาท
ขณะที่ การจัดทำหลังคากันแดดกันฝน บริเวณสถานีรถไฟฟ้าอื่นๆ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า จะพยายามดำเนินการ ถ้าจุดดังกล่าวประชาชนร้องขอหรือได้รับความเดือดร้อน แต่บางจุดที่มีปัญหาเจ้าของพื้นที่ ที่ไม่ใช่ของกรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้
รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงการแก้ปัญหาน้ำท่วมผิวจราจรหน้าสถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต เมื่อช่วงหน้าฝนว่า จุดนี้เป็นจุดอ่อนน้ำท่วม หากฝนตกลงมาเกิน 60 มิลลิเมตร แต่ได้แก้ไขด้วยการเปิดใช้งานอุโมงค์ระบายน้ำบางซื่อ คลองบางซื่อ พบว่าการระบายน้ำในจุดนี้ถือว่าดีขึ้น
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม