การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวันนี้ที่มีนาย สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม มีวาระการตั้งกระทู้ถามของพ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต สมาชิกสนช. ที่ตั้งถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรฐานการให้บริการและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอส
พ.ต.ท.พงษ์ชัย กล่าวว่า ค่าโดยสารบีทีเอสถือเป็นหนึ่งในค่าโดยสารรถสาธารณะที่แพงที่สุดในโลก แต่ขบวนกลับมีความล่าช้า ส่งผลให้ในชั่วโมงเร่งด่วนมีผู้โดยสารตกค้างอยู่บนชานศาลาของแต่ละสถานีเป็นจำนวนมาก จึงน่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยว่าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นจะมีการป้องกันและการอพยพผู้โดยสารออกเช่นไร ทั้งยังถามถึงค่าโฆษณาของบีทีเอสที่แต่ละปีมีรายได้ไม่ต่ำกว่าหลายหมื่นล้านบาทว่ามีการเก็บภาษีเข้าคลังหรือไม่ สิ่งสำคัญคือระยะหลังบีทีเอสมีการขัดข้องของระบบมาเป็นระยะ จนส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร จึงขอตั้งคำถามถึงนายกรัฐมนตรี 3 ข้อ ข้อแรกคือผู้ที่เกี่ยวข้องมีการกำหนดมาตรฐานอย่างไร แล้วการให้บริษัทหนึ่งเป็นผู้รับสัมปทานจะเป็นการผูกขาดสัมปทานจนส่งผลให้ภาครัฐได้เปรียบหรือเสียเปรียบเพียงใด ข้อต่อมา กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมที่มีหน้าที่กำกับดูแล และกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่เป็นคู่สัญญากับบีทีเอสมีมาตรการป้องกันอย่างไรที่จะไม่ให้ระบบอาณัติสัญญาณของบีทีเอสขัดข้องอีก รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุที่เกิดขึ้น และข้อสุดท้ายรัฐบาลมีแนวทางจัดสรรคลื่นความถี่อย่างไร เพื่อมิให้สัญญาณคลื่นความถี่ของระบบต่างๆชนกัน
ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้มาตอบกระทู้แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า หลังเกิดเหตุ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กทม., กระทรวงคมนาคม ประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ก่อนทราบว่าเหตุที่เกิดขึ้นมาจากสัญญาณคลื่นความถี่ใกล้เคียงกันไปรบกวนการเดินรถของบีทีเอส ซึ่งตามปกติของระบบการเดินรถบีทีเอสนั้น หากมีสิ่งใดมาขัดขวางหรือรบกวนสัญญาณ ขบวนก็จะหยุดทันทีเพื่อความปลอดภัย ที่ประชุมจึงสั่งให้บีทีเอสไปเร่งแก้ไขคลื่นความถี่ โดยขณะนี้ได้แก้ไขเสร็จแล้ว และไม่พบปัญหาหลังการดำเนินการอีก ส่วนการเยียวยาผู้โดยสารในช่วงที่เกิดเหตุมีการเยียวยาทั้งผู้ที่ถือบัตรเที่ยวเดียวและผู้ถือตั๋วรายเดือน
พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงต่อว่า ตามสัญญาที่ลงนามกัน รถไฟฟ้าบีทีเอสจะหยุดรถแต่ละครั้งได้ไม่เกิน 2.30 นาที ที่ผ่านมายังไม่พบการหยุดรถเกินเวลา ส่วนการให้สัมปทานกับผู้ร่วมลงทุนในบีทีเอสยืนยันว่า ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และขณะนี้ก็มีเวลากำหนดการครบรอบสัมปทานอยู่ ส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่ ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ได้จัดสรรแบ่งระบบเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้จะนำคำถามและข้อห่วงใยของสมาชิกสนช.ในวันนี้ไปนำเสนอต่อนายกฯ เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป
ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร ผู้สื่อข่าว