ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.)เตือนระวังภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในวันที่ 3-4 ตุลาคม 2557 อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคใต้ บริเวณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล
นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ผู้อำนวยการกลาง เปิดเผยว่า ได้ส่งโทรสารด่วนที่สุด ถึง ผู้ว่าราชการในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเตือนให้เฝ้าระวังถึงภาวะมรสุมเข้าปกคลุมในหลายพื้นที่ เช่น จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล หลังจากปภ.ได้ตรวจสอบสภาวะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา แล้วพบว่า ในช่วงวันที่ 4-7 ต.ค. ร่องมรสุมจะเคลื่อนที่ลงมาพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตามลำดับ ขณะที่ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ยังคงปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงเป็นช่วงๆ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ตอนกลาง ซึ่งมีโอกาสจะเพิ่มกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกชุกเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ คลื่นลมบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูง จึงแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ที่ราบต่ำน้ำไหลผ่าน ที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดทราบและเตรียมความพร้อม
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศเมื่อเวลา 16.00 น.วันนี้ ว่า บริเวณความกดอากาศlสูงกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกอยู่ในเกณฑ์กระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5-7 ตุลาคม 2557 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงเกิดขึ้นในระยะแรก และอุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส สำหรับร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทั้งนี้ ในระยะนี้จะเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู จากฤดูฝนไปสู่ฤดูหนาว ลักษณะเช่นนี้ทำให้ฝนในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวโน้มลดลง และอากาศจะเย็นลงเป็นระยะๆ และมีหมอกในตอนเช้า
CR: แฟ้มภาพ