การรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง และสถานการณ์น้ำทะเลหนุนแม่น้ำเจ้าพระยา จนอาจส่งผลต่อคุณภาพน้ำที่จะนำมาผลิตในปี2558 การประปานครหลวง หรือ กปน. จึงร่วมมือกับกรมชลประทาน ศึกษาเส้นทางการผันน้ำจากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำทะเลหนุนแม่น้ำเจ้าพระยาในหน้าแล้ง นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการกปน. เปิดเผยว่า ในปีนี้ คาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะมากกว่าทุกปี และกปน.ต้องประสบกับปัญหาน้ำทะเลหนุนในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงหน้าแล้ง จนส่งผลต่อคุณภาพน้ำดิบที่จะนำมาผลิต กปน.จึงต้องมีการศึกษาเส้นทางการผันน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำดิบในแม่น้ำเจ้าพระยา และผลักดันน้ำเค็มในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูง โดยมีเส้นทางการผันน้ำเริ่มจากจุดรับน้ำปากคลองจรเข้สามพัน อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ก่อนปล่อยลงสู่คลองสองพี่น้อง และระบายผ่านประตูน้ำบางสาม ลงแม่น้ำท่าจีน ในจ.สุพรรณบุรี จากนั้นจะผันน้ำผ่านประตูน้ำพระยาบันลือ จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนระบายสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากที่ศึกษาเส้นทางเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มทำทันที เพื่อให้ทันก่อนถึงช่วงหน้าแล้งในปี2558 นายธนศักดิ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งเหตุผลที่กปน.ต้องทำการผันน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มในหน้าแล้ง เพราะต้นทุนในการกรองน้ำเค็มค่อนข้างสูง กปน.ต้องการทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำไม่สูง เพื่อที่จะลดราคาน้ำของผู้บริโภค จึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นอกจากนี้กปน.ต้องการบริหารจัดการน้ำ และดูแลระบบนิเวศน์ทางการเกษตร จึงอยากจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร พูดคุยกับเกษตรกรที่ทำนาปรัง ว่าให้ช่วยลด หรืองดการทำนาปรังไปก่อน เพราะการทำนาปรังของเกษตรกร เป็นการดึงน้ำอีกหนึ่งทาง จนอาจทำให้น้ำไม่พอโดยในวันนี้เป็นการลงสำรวจและศึกษาเส้นทางการผันน้ำในจุดต่างๆ ตามที่กปน.วางแผนไว้ โดยในช่วงเช้าเป็นการสำรวจบริเวณจุดรับน้ำปากคลองจรเข้สามพัน อ.ท่าม่วง จ..กาญจนบุรี และบริเวณประตูบางสาม เป็นจุดปล่อยน้ำออกสู่แม่น้ำท่าจีน ที่จ.สุพรรณบุรี เป็นจุดแรกในการผันน้ำ ก่อนที่จะมีการปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน ซึ่งระดับน้ำในขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่ปกติ
สานนท์