ในการเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ตำรวจยัดข้อหา ประชาชนจะต่อสู้และปฏิรูประบบสอบสวนอย่างไร?" ที่จัดโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) Police Watch
นาย โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยงค์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) กล่าวว่า อสส.มีนโยบายไม่ฟ้องผู้บริสุทธิ์และมีกระบวนการการทำงานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้การทำคดีผิดพลาด และสามารถมาร้องเรียนและขอคำปรึกษาต่ออสส.ซึ่งจะให้คำแนะนำขั้นตอนการสู้คดีและวิธีการรักษาสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับเรื่องร้องเรียนลักษณะนี้เป็นประจำ จึงมองว่าขณะนี้ประชาชนรู้จักปกป้องสิทธิตัวเองมากขึ้น แต่ขอให้เข้าใจด้วยว่า อัยการไม่มีหน้าที่ลงไปสอบสวนคดี มีหน้าที่แค่พิจารณาสำนวนคดีเท่านั้น ผู้สอบสวนคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ว่าผู้ที่จับมาเป็นผู้บริสุทธิ์หรือผู้ร้าย หากไม่ทำก็จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และผู้โดนคดีก็มีสิทธิร้องเรียนต่ออสส.ได้
ด้านนาย น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จ.กาญจนบุรี ยอมรับว่า กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาอย่างมาก เพราะไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มองว่ากฎหมายจะเป็นกฎหมายต่อเมื่อมีอัยการและเจ้าหน้าที่ลงไปร่วมตรวจสอบ ไม่ใช่กฎหมายที่พิสูจน์กันแค่ผ่านตัวอักษรเท่านั้น
ส่วนร.ต.อ.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพาและอดีตนายตำรวจ มองว่า ประเทศไทยก็มีปัญหาในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะตั้งแต่ชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะให้การเชื่อถือพนักงานหรือสายลับมากกว่าพยาน ต่างจากต่างประเทศที่จะสอบสวนและฟังพยานมากกว่า ดังนั้นจึงต้องเร่งปฏิรูปตำรวจทั้งระบบ ทั้งในสายงานบังคับบัญชาและวิธีการสอบสวน มิฉะนั้นคนไทยจะมีโอกาสติดคุกได้ง่าย
...
ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร