การเสวนาทิศทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเลือกตั้งนิยม ประชานิยม และอำนาจนิยม เกี่ยวกับกระบวนการการมีส่วนร่วมทางการเมืองไทย นางสาว จันทรานุช มหากาญจนะ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐยังมีความพยายามรวบอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ไม่ให้ความสำคัญและไม่ยอมกระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม มองว่ารัฐบาลอำนาจนิยมแม้จะมีข้อดีบ้างแต่ก็มีความอันตรายอย่างมากต่อประเทศ เพราะอำนาจอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเดียว ไร้ซึ่งการตรวจสอบถ่วงดุลจากคนในสังคม และแม้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอาจไม่ได้มีแต่ข้อดี แต่ก็เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยยังดีกว่าระบอบอำนาจนิยม
ด้านนาย ดันแคน แมคคาร์โก อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร ระบุว่า จากการศึกษาพบว่าคนในเมืองมักไม่ค่อยให้ความสนใจกับสถานการณ์ทางการเมือง เห็นได้จากการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งของคนในกรุงเทพฯที่รั้งท้ายของประเทศ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับชื่นชอบที่จะคุยเรื่องการเมืองมากกว่า พร้อมระบุว่าการเลือกตั้งในไทยที่จะมาถึงนี้อาจเป็นได้ทั้งความหวังและความกลัว ความหวังคือมีการเลือกตั้งไปสู่อนาคต แต่ความน่ากลัวคือ หากเลือกตั้งแล้ว ประเทศไม่พัฒนาและกลับไปสู่จุดเดิมก็จะทำให้ 5 ปีที่ผ่านมาสูญเปล่า
ทั้งนี้ยังมองว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมาที่ประเทศไทยเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมือง ก็ไม่ได้ทำให้การเมืองไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ตรงกันข้ามอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นด้วย