การเสวนาทิศทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเลือกตั้งนิยม ประชานิยม และอำนาจนิยม นาย ดันแคน แมคคาร์โก อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าในประเทศอินโดนีเซียรวมถึงประเทศไทย ผู้ที่มีการศึกษาและรายได้มาก มักไม่ได้ชื่นชอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ตรงกันข้ามกับผู้ที่มีรายได้น้อยและโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศประชาชนมักไม่ชื่นชอบระบบเผด็จการเช่นกัน ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจและซับซ้อนต่อแนวคิดทางสังคม ส่วนการเมืองไทยที่มีความพยายามเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปประเทศนั้นมองว่าควรมีการปฏิรูปสื่อมวลชนก่อน
ด้านนางสาวจันทรานุช มหากาญจนะ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ระบุว่า ในช่วงเริ่มต้นการเมืองระบอบประชาธิปไตย การเมืองจำกัดอยู่ที่ชนชั้นนำเพียงบางกลุ่ม ประชาชนแทบไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ส่วนปัจจุบันประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ก็มีคำถามว่าหากการเมืองที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยมีการทุจริตจากผู้บริหารประเทศแล้วประชาธิปไตยจะตอบโจทย์การปกครองได้ดีเพียงใด
สำหรับประเทศไทย มองว่า พรรคการเมืองใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นมาโดยอาศัยผู้นำใหม่ๆมาเป็นตัวชูโรงนั้นก็มีคำถามว่าพรรคการเมืองเหล่านี้มีอุดมการณ์ทางการเมืองจริงหรือไม่ ถ้าอุดมการณ์ไม่แตกต่างก็มองว่าพรรคการเมืองเหล่านี้คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้ ส่วนกระบวนการทางประชาธิปไตยไทย ก็มีความแตกต่างจากโลกตะวันตก โดยโลกตะวันตกมีกระบวนการทางประชาธิปไตยที่ฝังรากลึก ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกันมาก แต่ไทยมุ่งเป้าไปที่ผล โดยไม่ได้มุ่งไปที่กระบวนการระหว่างทาง เห็นได้จากที่ผ่านมาไทยมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แต่ผลกลับไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง หากประเทศไทยจะสร้างกระบวนการทางประชาธิปไตยให้ได้เหมือนโลกตะวันตกมองว่าอาจต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 50 ปี
ส่วนบทบาทและพฤติกรรมของผู้นำประเทศส่งผลต่อความรู้สึกและการสื่อสารกับประชาชนเป็นอย่างมาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กับนาง ฮิลลารี คลินตัน อดีตผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มีความแตกต่างกันชัดเจนในการสื่อสารกับประชาชน