กระทรวงพาณิชย์
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เร่งศึกษาและพิจารณาแนวทางการจัดตั้งกรมธุรกิจบริการ เพื่อให้มีหน่วยงานดูแลและส่งเสริมธุรกิจบริการเป็นการเฉพาะ โดยให้สรุปผลการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจบริการเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะ
ส่วนเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จะเดินทางมายื่นข้อเรียกร้องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ภายในเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจากราคามะพร้าวตกต่ำ จากลูกละ 20 บาทเหลืออยู่ 3-4 บาท นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ แกนนำเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ในการยื่นข้อเรียกร้องทางกลุ่มจะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการกำหนดราคากลาง ผลละไม่ต่ำกว่า 15 บาท และการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศซึ่งให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำกะทิเป็นผู้นำเข้า พร้อมเสนอข้อมูลการนำเข้าย้อนหลัง 2 ปี ก่อนประกาศนำเข้าต้องสอบถามข้อมูลผลผลิตในประเทศ จากกระทรวงเกษตรฯ ให้ชัดเจน พร้อมรับฟัง ความเห็นจากประชาชนอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ขอให้มีบทลงโทษผู้กระทำผิดเงื่อนไขการนำเข้า และขอให้หน่วยงานระดับจังหวัดกวดขันการลักลอบนำเข้ามะพร้าวเถื่อนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ส่วนผลผลิตอ้อย นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการอ้อย (กอ.) เห็นชอบการประมาณการปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่จะเปิดหีบในช่วงปลายปีนี้ไว้ที่ผลผลิตเฉลี่ย 126 ล้าน 3 แสน 6 หมื่นตัน ลดลงประมาณ 9 ล้าน 3 แสน 6 หมื่นตัน จากผลผลิตในฤดูกาลที่ผ่านมา (ปี 2560/61) ที่อ้อยเข้าหีบสูงถึง 135 ล้านตัน พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 12 ล้าน 1 แสนไร่ โดยจะมีนำเสนอการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในวันที่ 25 กันยายนนี้ โดยเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ได้เข้าพบ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือในการเพิ่มราคาอ้อยเพิ่มเติมจากราคาที่จะประกาศโดยนายอุตตมรับปากที่จะเร่งหาแนวทางการช่วยเหลือก่อนที่จะมีการเปิดหีบที่คาดว่าจะเปิดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากฤดูหีบ ที่แล้วกำหนดเปิดวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ประสบปัญหาปริมาณอ้อยที่มากทำให้มีอ้อยบางส่วนตกค้างเพราะฝนมาเร็ว
ส่วนเรื่องธุรกิจคนต่างด้าว นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้พิจารณาทบทวนรายการธุรกิจบริการตามบัญชี แนบท้าย 3 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยได้มีมติให้ถอดธุรกิจบริการ 3 รายการธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจบริการให้กู้ยืมเงินให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่มในประเทศ ธุรกิจบริการให้เช่าพื้นที่อาคาร พร้อมสาธารณูปโภคให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่ม และธุรกิจบริการให้ คำปรึกษาแนะนำให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่ม เฉพาะ 4 กิจกรรม คือ ด้านบริหารจัดการ ด้านการตลาด ด้านทรัพยากรบุคคล และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ออกจากบัญชีแนบท้าย เพราะไม่ได้เป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับวิชาชีพโดยตรง เป็นธุรกิจที่ไม่กระทบกับผู้ประกอบการคนไทย คือจะให้บริการเฉพาะแก่บริษัทในเครือในกลุ่ม และยังเป็นการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้กับคนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในการให้บริการ
ในวันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2561 (ซิมโพเซียม) หัวข้อ "สู่ยุคใหม่ของระบบการเงินและธนาคารกลาง" โดยจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยเส้นทางสู่สังคมไร้เงินสด การเงินใหม่ในเศรษฐกิจดิจิทัล และไขปริศนาเงินเฟ้อต่ำ ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 10.00 น.พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการที่ 10 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ,บก.ปอศ. และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าว “การปราบปรามขบวนการ โกงน้ำหนักรถบรรทุก ด้วยเครื่องปรับน้ำหนักตาชั่ง แบบรีโมตคอนโทรล” จับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว 19 คน นิติบุคคล 1 ราย หลบหนี 4 คน รวมความเสียหาย 157 ล้านบาท โดยมีการสาธิตการใช้อุปกรณ์ของกลางที่กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาใช้กระทำความผิด เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนระวังภัย
ที่กองปราบปราม เวลา 10.00 น. กลุ่มผู้เสียหายเข้าแจ้งความกรณีที่ถูกหลอกให้ลงทุนออมทอง ทำให้มีผู้เสียหายกว่า 200 คน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 40 ล้านบาท
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ร้องอัยการสูงสุดขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี นายปุณยวัจน์ หิรัญย์เตชะ หรือพล กับพวกในการยื่นอุทธรณ์
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า กรณีที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างลดน้ำหนัก โดยมีการใส่ไซบูทรามีนซึ่งมีผลข้างเคียงรุนแรง บางรายถึงขั้นเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงออกประกาศกระทรวงกำหนดให้ไซบูทรามีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2561 เป็นต้นไป ผู้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท-2 ล้านบาท ผู้ใดขาย จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท-2 ล้านบาท ผู้ใดครอบครอง จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท-1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ก็ถือว่าเป็นความผิดด้วย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรุงเทพมหานคร
08.00 น. นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม Big Cleaning Day คืนความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้ย่านพาหุรัด ณ ถ.พาหุรัด เขตพระนคร
11.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการ DIY สไตล์โรงเรียน กทม. ณ โรงเรียนบ้านบางกะปิ ถ.นวมินทร์
...