ผู้ว่าฯ กทม. สั่งรับมือน้ำฝนที่จะกระทบพื้นที่ลุ่มกทม.ฝั่งตะวันออก

19 กันยายน 2561, 12:20น.


การเตรียมความพร้อมของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการรับน้ำเหนือช่วงเดือนกันยายนที่มักจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานครทุกปี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่บริเวณประตูระบายน้ำคลองแสนแสบตอนมีนบุรี ซึ่งเป็นจุดรับน้ำมาจากแม่น้ำป่าสัก ผ่านคลองระพีพัฒน์(ใต้) ก่อนถึงประตูระบายน้ำคลองแสนแสบมีนบุรี และเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับฟังการรายงานสถานการณ์น้ำจากสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร และ สำนักชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน พร้อมลงเรือสำรวจปริมาณน้ำ ระยะทาง 3 กิโลเมตร พร้อมกล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ยังไม่น่ากังวล ได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน อย่างใกล้ชิดในการบริหารจัดการน้ำทางภาคเหนือลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงจัดประชุมติดตามสถานการณ์ในทุกวันจันทร์





ส่วนที่น่าเป็นกังวล คือบริเวณกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่เขตหนองจอก มีนบุรี ลาดกระบังและคลองสามวา เนื่องจาก ลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและจะมีฝนตกตลอดเดือนนี้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ถึง 200 มิลลิเมตร อีกทั้งการผันน้ำจากแม่น้ำป่าสักผ่านคลองระพีพัฒน์ (ใต้) ลงสู่คลอง 13 มีปริมาณมาก จึงส่งผลต่อพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ซึ่งระดับน้ำสูงสุด เมื่อวันที่ 16 กันยายน อยู่ที่ +0.92 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ทำให้น้ำปริ่มตลิ่ง สูงกว่าจุดวิกฤตที่ +0.90 ม.รทก. เล็กน้อย กรุงเทพมหานครจึงร่วมกับกรมชลประทานบริหารจัดการ ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ +0.87 ม.รทก. และมีแนวโน้มลดลง ทำให้คลายความกังวลได้ระดับหนึ่ง





ส่วนพื้นที่ชั้นใน กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมขุดลอกคูคลองระบายน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ โดยนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม ประชาชนจึงเห็นได้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานครปีนี้บรรเทาลง และคาดว่าจะไม่เกิดปัญหา ถึงขั้นต้องแจ้งเตือนประชาชนให้ยกของขึ้นที่สูง เช่นเดียวกับแนวเขื่อนเจ้าพระยาที่ไม่สามารถจัดทำแนวเขื่อนได้ หรือจุดฟันหลอ เพราะบางส่วนอยู่ระหว่างฟ้องร้องดำเนินคดี ได้นำกระสอบทรายปิดกั้นพื้นที่ไว้



 





ด้านสถานการณ์น้ำทะเลหนุน วัดจากประตูระบายน้ำปากคลองตลาด อยู่ที่ 1.60 เมตร สามารถรองรับได้สูงสุด 2.80 เมตร จึงทำให้น้ำทะเลหนุนไม่เข้ามาท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน ส่วนน้ำเหนือ สถานการณ์ปัจจุบันอยู่ที่ 860 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และในปีนี้ ปริมาณน้ำขึ้นสูงสุด 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงยังไม่น่าเป็นปัญหากับประชาชน เนื่องจากสามารถรองรับได้สูงสุด 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่เป็นช่วงมรสุม



อย่างไรก็ตาม น้ำฝนยังคงเป็นสิ่งที่กังวลใจ เพราะยังไม่หมดช่วงมรสุม แต่เชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการปัญหาได้ ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ต้องประกอบด้วย น้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน และน้ำฝน โดยเตรียมความพร้อมรับมือไว้อย่างรอบด้าน รวมถึงสำนักการระบายน้ำได้จัดเตรียมกระสอบทรายจำนวน 3 ล้านกระสอบ สำหรับแจกจ่ายให้ประชาชนรับมือเหตุน้ำท่วม มั่นใจน้ำไม่ท่วม พื้นที่กรุงเทพมหานครแน่นอน





ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม



 

ข่าวทั้งหมด

X