สถานการณ์พลังงานของโลกในปัจจุบัน เวทีสัมมนา PRISM Forum-Energy Transformation for Sustainability โดยกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดสัมมนา โดยมีการเเลกเปลี่ยนมุมมองด้านพลังงานจากวิทยากรของบริษัทพลังงานข้ามชาติ
Ms. Mriganka Jaipuriyar , Associate Editorial Director , Asia Energy News & Analysis จากบริษัท S&P GLOBAL PLATTS ได้พูดถึงราคาน้ำมันขายปลีกในภูมิภาคเอเชีย ว่า วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในโลกตกต่ำในปี พ.ศ.2557 ส่งผลให้หลายประเทศหันมาปรับนโยบายเปิดเสรีราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น รัฐบาลอินเดีย และอินโดนีเซีย สามารถประหยัดเงินจากการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงหลายล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งยังเป็นกลไกให้ตลาดปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลของอุปสงค์ อุปทาน โดยประเทศในเอเชีย ได้มีการกำหนดโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง เเบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ราคาเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ ราคาควบคุมและอุดหนุนราคา และราคากึ่งควบคุม โดยการกำหนดโครงสร้างดังกล่าวของแต่ละประเทศ ไม่ได้มาจากปัจจัยด้านสถานการณ์การนำเข้า ส่งออกสุทธิ หรือขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เช่น ประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นประเทศเปิดเสรีเต็มรูปแบบ
ขณะที่ ประเทศฟิลิปปินส์ มีราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นประเทศเปิดเสรี ส่วนในประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย ถือเป็นกรณีศึกษาของการเปิดเสรีราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะทั้ง 2 ประเทศ เริ่มกระบวนการเปิดเสรีราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในปี พ.ศ.2557 โดยใช้วิธีการที่แตกต่างกัน รัฐบาลอินเดียประสบความสำเร็จในการอุดหนุนราคา โดยจ่ายเงินอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม กับภาคส่วนที่เป็นเป้าหมายโดยตรง ซึ่งบริษัทพลังงานแห่งชาติของประเทศอินเดียไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะที่ ประเทศอินโดนีเซีย ยังคงมีอุปสรรคในการดำเนินงาน แม้จะเป็นผู้นำเข้าน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลรายใหญ่ ของภูมิภาค เมื่อราคานำเข้าสูงขึ้น แต่ไม่ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน และเพิ่มการอุดหนุน ทำให้บริษัทพลังงานแห่งชาติของอินโดนีเซีย ขาดทุน 280 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเพียง 2 เดือนแรกของปีนี้
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม