ผจก.ศวปถ. เผยสื่อฯช่วยปรับพฤติกรรมการขับขี่ ชี้ให้เห็นถึงวิธีป้องกัน-อันตราย

15 กันยายน 2561, 12:29น.


วันที่สองของการอบรมในโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและรายงานข่าวเชิงวิเคราะห์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน ที่จัดฝึกอบรมผู้สื่อข่าวทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค รวมกว่า 100 คน โดยเน้นเนื้อหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย การจัดการความเร็ว พร้อมพัฒนาเทคนิคการนำเสนอข่าวรูปแบบ new media



นพ.ธนะพงศ์  จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) พูดถึง “มนุษย์ปัจจัย” กับความปลอดภัยทางถนน ที่ปัจจุบันการบริหารจัดการยังไม่ครอบคลุมทุกปัญหาที่เกิดขึ้นบนท้องถนน การเห็นสิ่งที่ผิดบนถนน ก็เป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าไปเตือน เช่น เด็กขี่รถจักรยานยนต์ เมาแล้วขับ ขับรถประมาท หรือไม่มีใบขับขี่ ดังนั้นการที่สื่อช่วยรายงานข่าวย้ำถึงการกระทำที่เสี่ยง และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความรุนแรง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่บนท้องถนนให้ปลอดภัยขึ้น โดยได้ยกตัวอย่างอุบัติเหตุ เช่น การลืมเด็กนักเรียนในรถโรงเรียนจนเสียชีวิต ที่ต้องรายงานตั้งแต่ระบบความปลอดภัย การจัดการของรถโรงเรียน เพื่อให้เกิดการแก้ไขที่ต้นเหตุ ป้องกันการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก หรืออีกกรณีหนึ่งที่เกิดบ่อยครั้งคือ รถชนท้ายรถบรรทุกที่จอดเสีย หรือจอดพักอยู่ไหล่ทาง ที่สื่อต้องรายงานถึงสภาพแวดล้อมในจุดเกิดเหตุ มีแสงสว่างเพียงพอหรือไม่ ลักษณะถนน เกิดเหตุบ่อยแค่ไหนในพื้นที่นั้น เพื่อหาทางแก้ไขให้มีจุดจอดรถขนาดใหญ่ที่ปลอดภัย





ด้านดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พูดถึง มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุ ที่สูงถึง 10ล้านบาทต่อผู้เสียชีวิต 1คน หากบาดเจ็บสาหัส จะมีมูลค่าความเสียหายที่ 3 ล้านบาทต่อคน ส่วนเรื่องรถสาธารณะ คือด้านมาตรฐานของรถ ที่ได้วิจัยเมื่อปี 2553-2554 ที่ยังขาดมาตรฐานความปลอดภัยอยู่มาก เช่น เข็มขัดนิรภัย การทดสอบความลาดเอียง ที่เป็นสาเหตุทำให้รถพลิกคว่ำ ความแข็งแรงของเบาะที่นั่งเมื่อเกิดการชน เบาะมักจะหลุดออกจากที่ยึด และที่สำคัญคือโครงสร้างหลักของตัวรถ ที่ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน ทำให้เวลาเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะมักจะมีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังรวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยของรถตู้โดยสารสาธารณะ ที่ต้องตรวจดูตั้งแต่เป็นรถตู้สาธารณะถูกต้องหรือไม่ การจัดวางเบาะที่นั่ง และนั่งจุดไหนในรถตู้ที่อันตรายที่สุด ผ่านการเก็บสถิติจากอุบัติเหตุที่ผ่านมา รวมไปถึงการชดเชยเยียวยาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ tdri.or.th





 



ผู้สื่อข่าว:วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์



 

ข่าวทั้งหมด

X