สถานการณ์ฝนตกในประเทศไทย หลังประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องจนถึงกลางเดือนตุลาคม โดยมีพายุ 2 ลูก ได้แก่พายุดีเปรสชั่น บารีจัต(barijat) ที่ได้สลายตัวแล้วเมื่อวานนี้ แต่ยังคงเหลือไต้ฝุ่นมังคุด ที่คาดว่าจะเคลื่อนเข้าสู่เกาะลูซอนประเทศฟิลิปปินส์คืนนี้ และเคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน อ่อนกำลังเป็นพายุโซนร้อน แม้ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลทางตรง แต่ในทางอ้อม จะทำให้ตั้งแต่วันที่ 12 -19 กันยายน มีฝนตกหนักในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี จันทบุรี ตราด และบางส่วน ของภาคเหนือ โดยในวันที่ 15 กันยายน พื้นที่เฝ้าระวัง คือ จังหวัดนครนายก สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด มีฝนอยู่ในเกณฑ์มากกว่า 50 มิลลิเมตร ดังนั้นในประเทศไทยเกือบทั่วประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยตอนบน จะต้องระวังฝนตกหนักในช่วงนี้
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุม ได้ให้ความสนใจกับเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 60 ปัจจุบันมีอยู่ 11 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่จะต้องเร่งระบายและพร่องน้ำ ส่วนปริมาณน้ำในอ่างขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 มีจำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำคิดเป็นร้อยละ 104 เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำร้อยละ 99 แต่ยังไม่มีน้ำล้นทางระบายน้ำหรือสปิลเวย์ เขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำร้อยละ 92 เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำร้อยละ 86 เขื่อนนฤบดินทร์จินดา จ.ปราจีนบุรี ปริมาณน้ำ ร้อยละ 89 โดยจะต้องติดตามสถานการณ์ฝน เพื่อปรับแผนระบายน้ำ พร้อมชี้แจงให้พื้นที่ท้ายเขื่อนรับทราบอย่างต่อเนื่อง