สสส. ชี้คนไทยต้องช่วยกันแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ที่ไทยสูญเสียเป็นอันดับ1ของโลก

14 กันยายน 2561, 14:45น.


การอบรมในโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและรายงานข่าวเชิงวิเคราะห์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน โดยแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิไทยโรดส์ และสถาบันอิศรา ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดฝึกอบรมผู้สื่อข่าวทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ที่เน้นเนื้อหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย การจัดการความเร็ว ที่พัฒนาเทคนิคการนำเสนอข่าวด้วย new media ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน 2561



นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธาน คนที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประธานเปิดการจัดประชุม กล่าวถึง วาระสำคัญที่ประเทศไทย เตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพ การประชุมระดับโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ และส่งเสริมความปลอดภัย ว่า คนเดือดร้อนคือ คนไทยทุกคน ที่ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันทำงาน กรณีการชนบนถนนผลสำรวจใหม่ขององค์การอนามัยโลกประเทศไทยน่าจะขึ้นอันดับหนึ่งของโลก ตายวันละ 60 คน หากเราไม่ทำอะไรเลยจะมีความสูญเสียมากกว่านี้





ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ผู้จัดการโครงการประชาสัมพันธ์การประชุมระดับโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ และส่งเสริมความปลอดภัย กล่าวถึงความสำคัญของการประชุม ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และเป็นประเทศแรกที่มีปัญหาด้านความปลอดภัยมากกว่าทุกประเทศที่เคยจัดมา จึงต้องเร่งจัดการลดการสูญเสียให้น้อยลง ทั้งเปลี่ยนทัศนคติ มีความเชื่อมั่นว่าการชนป้องกันได้ ไม่ใช่เรื่องเคราะห์กรรม แต่เกิดขึ้นจากความบกพร่องโดยรวมของระบบ ที่ต้องหันมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน และสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคม





สำหรับการประชุม Safety 2018-The 13th World Conference no Injury Prevention and Safety Promotion ครั้งที่ 13 จะมีจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม BITEC บางนา



ตามสถิติพบว่า เรื่องของความรุนแรงเป็นภัยอันดับ 1 ของโลกมากกว่า 1.6 ล้านคน อันดับ 2 คือ รถชนกันตาย 1.5 ล้านคน คนตายเพราะล้มเสียชีวิต 646,000 เคสต่อปี  ขณะภัยต่างๆในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) อุบัติเหตุทางถนนทำให้เสียชีวิตสูงที่สุด รองลงมา การล้มของคนสูงวัย อันดับ 3 คือ การทำร้าย ร่างกายและการฆ่ากันตาย อันดับ 4 คือ เด็กจมน้ำเสียชีวิต อันดับถัดมาคือ การบาดเจ็บจากการทำงาน



สำหรับการประชุมระดับโลก ครั้งที่13 นี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลัก 4 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การอนามัยโลก  กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มาก ทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การทำงานกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคม จากต่างประเทศ และผลงานทางวิชาการทั่วโลกที่ผ่านการคัดเลือกกว่า 1,300 เรื่อง หลักๆ 13ด้าน



ด้านความปลอดภัยทางถนน, ด้านความรุนแรงในเด็กและสตรี, ด้านการบาดเจ็บในเด็กและความปลอดภัยในชุมชน, ด้านการป้องกันการจมน้ำ, ด้านการสนับสนุนเชิงนโยบาย, ด้านชุมชนปลอดภัย, ด้านความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ, ด้านการป้องกันการล้ม, ด้านความปลอดภัยจากการกีฬา,ด้านการบาดเจ็บจากการไหม้, ด้านการป้องกันอื่นๆ, ด้านการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน, และด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ ภายใต้เป้าหมายร่วมกันทั่วทั้งโลก คือ เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals : SDGs สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามและสมัครเข้าร่วมการประชุมได้ทาง www.worldsafety2018.org

ข่าวทั้งหมด

X