CEOปตท. เผยปัจจัยราคาน้ำมันคุมยาก ยืนยันเดินหน้าแข่งขันการผลิตไฟฟ้า

10 กันยายน 2561, 14:14น.


หลังนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีบริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) กำลังทำการเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลังบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีมติให้บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จํากัด (มหาชน) (จีพีเอสซี) ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท. เตรียมเข้าซื้อหุ้นบริษัท โกลว์ พลังงาน จํากัด (มหาชน) ที่เป็นบริษัทผลิตและจําหน่ายไฟฟ้า



นาย ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การผลิตไฟฟ้าถือเป็นการแข่งขันกันตามระบบธุรกิจปกติ และกรณีนี้ปตท.ไม่ได้เป็นผู้เข้าไปซื้อเอง แต่ให้บริษัทลูกที่เป็นเอกชนที่ปตท.ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 20 เข้าไปซื้อ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน ถ้าผลออกมาอย่างไร ปตท.ก็พร้อมรับและปฏิบัติตามทุกอย่าง ยืนยันว่า เคารพความเห็นต่างของทุกฝ่าย ส่วนจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคนตีความและดำเนินการต่อไป ยืนยันว่าไม่กังวล พร้อมระบุว่าการที่ต้องแข่งผลิตไฟฟ้าให้ได้มากขึ้นก็เพื่อให้องค์กรมีทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็น ขณะนี้ปตท.ดูแลความมั่นคงทางพลังงานในด้านต่างๆให้ประเทศอยู่แล้ว การมีพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นก็จะช่วยเสริมความมั่นคงแข็งแรงอีกทาง



ซีอีโอของปตท.ยังระบุถึงทิศทางราคาพลังงานว่า ขณะนี้มีหลายปัจจัยที่เข้ามาเป็นตัวกำหนดราคา โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องภูมิศาสตร์การเมือง และการสกัดกั้นการส่งออกน้ำมันของอิหร่านจะกระทบต่อราคาน้ำมันโลก โดย มองว่าภาพรวมความต้องการน้ำมันปรับตัวดีขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจ เพียงแต่ประเทศยังไม่มีการพัฒนาการขุดเจาะและการผลิตใหม่ๆ เชื่อว่าจากนี้จะมีการลงทุนในด้านการขุดเจาะและผลิตน้ำมันมากขึ้น ส่วนราคาน้ำมันมองว่าในอนาคตราคายังคงทรงตัว แต่ก็ขอให้ประชาชนใช้อย่างประหยัด เพราะปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบกว่าร้อยละ 80ยิ่งทำให้ไทยขาดดุลทางการค้ามากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเงินคงคลังของรัฐ ยอมรับด้วยว่าไม่สามารถกำหนดราคาน้ำมันตามที่ต้องการได้ เนื่องจากประเทศไทยใช้น้ำมันรวมกันไม่ถึงร้อยละ 1 จากการใช้ทั้งหมดทั่วโลก จึงทำให้น้ำมันของไทยมีราคาแพง



ส่วนการเปิดประมูลแหล่งก๊าซบงกชเอราวัณ ยังไม่ขอเปิดเผยข้อมูลมาก เพราะจะเสียข้อมูลในการแข่งขัน แต่ยืนยันว่าจะทำตามนโยบายรัฐบาล คาดว่าจะยื่นประมูลได้ภายในเดือนนี้ และจะทราบผลการประมูลประมาณปีหน้า โดยการยื่นประมูลจะต้องพิจารณาให้รอบคอบและเหมาะสม



ด้านการไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย กำลังมุ่งเน้นนำพลาสติก, ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์และน้ำมันที่กลั่นแล้วไปขาย ขณะเดียวกันยังมีธุรกิจถ่านหินที่กำลังลงทุนอยู่ด้วย แต่ก็ต้องระมัดระวัง ยอมรับว่าการเข้าไปลงทุนไม่ง่าย เพราะอินโดนีเซียเองก็ต้องรักษาประโยชน์ของประเทศเช่นกัน และที่ผ่านมาก็เจอทั้งด้านดีและไม่ดีในการลงทุนมาแล้ว

ข่าวทั้งหมด

X