สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครนายก ซึ่งได้รับผลกระทบจากร่องลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และพายุโซนร้อนเบบินคา (BEBINCA) พัดผ่านทำให้เกิดฝนตกติดต่อกันหลายวันในพื้นที่จังหวัดนครนายก ทำให้บ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง
วันนี้ เวลา 09.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เดินทางไปประชุมและติดตามการแก้ไขปัญหาการเกิดอุกทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครนายก ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
เสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 1,578 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครนายก ณ หอประชุมวัดองครักษ์ธรรมปัญญาราม และหอประชุมวัดอรุณรังสี อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
ในโอกาสนี้ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสความห่วงใยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปกล่าวกับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุทกภัยให้ได้รับทราบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานอาหารเลี้ยงราษฎรที่เดินทางมารับถุงพระราชทานด้วย ต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
จังหวัดนครนายก ได้รับอิทธิพลร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และพายุโซนร้อนเบบินคา (BEBINCA) พัดผ่านและปกคลุมตั้งแต่วันที่ 13 – 27 สิงหาคม 2561 ส่งผลทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดนครนายกและอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ติดต่อกันหลายวัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ทางการเกษตรใน 3 อำเภอ ได้แก่อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา และอำเภอองครักษ์ ได้รับความเสียหาย รวม 16 ตำบล 94 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 5177 ครัวเรือน
ต่อจากนั้นในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปดูสภาพพื้นที่และรับฟังการบรรยายการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนขุนด่านปราการชล ณ บริเวณสันเขื่อน ฯ อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก
เขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย มีความยาว รวม 2,720 เมตร ความสูง 93 เมตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 ให้กรมชลประทาน พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน ที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2544 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน เพื่อช่วยให้ราษฎรทางตอนล่างมีน้ำใช้ทำการเกษตร การอุปโภคบริโภค รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยที่มักจะเกิดขึ้นในเขตจังหวัดนครนายกเป็นประจำทุกปี เพื่อการอุตสาหกรรม และเพื่อการแก้ไขพื้นที่ดินเปรี้ยวอีกด้วย
มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน โดยสามารถจัดสรรน้ำให้พื้นที่ชลประทาน ได้ 185,000 ไร่ ด้วยโครงการท่าด่านเดิม 6,000 ไร่ โครงการท่าด่านส่วนขยาย 14,000 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก 165,000 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรม เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตจังหวัดนครนายก
ลักษณะภูมิประเทศ อ่างเก็บน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล อยู่ในลุ่มน้ำนครนายก ซึ่งเป็นลุ่มน้ำย่อย ของลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำนครนายก ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอบ้านนา อำเภอปากพลี และอำเภอองครักษ์ของจังหวัดนครนายก มีเนื้อที่ 2,433 ตารางกิโลเมตร ต้นน้ำของแม่น้ำนครนายก เกิดจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งติดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มียอดเขาสูงประมาณ 1,000 - 1,300 เมตร และมีเทือกเขาดงพญาเย็น (เขาใหญ่) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแนวปะทะของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีฝนตกชุก โดยเฉลี่ยประมาณ2,600 ถึง 2,900 มม./ปี อ่างเก็บน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล มีน้ำท่าเฉลี่ยมากที่สุดเดือนสิงหาคม มีปริมาณ 70.87 ล้าน ลบ.ม. น้ำท่าเฉลี่ยน้อยที่สุดเดือนมีนาคม มีปริมาณ 0.66 ล้าน ลบ.ม.รวมปริมาณน้ำเฉลี่ยทั้งหมด 292.45 ล้าน ลบ.ม.
ประโยชน์ที่ได้รับจากเขื่อนขุนด่านปราการชล คือ ส่งน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่พื้นที่ รวม 185,000 ไร่ ส่งน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภค 16 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ 5,400 ครัวเรือน ช่วยบรรเทาปัญหาดินเปรี้ยว และลดความเสียหายจากการเกิดอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก ในพื้นที่จังหวัดนครนายก และจังหวัดใกล้เคียงได้อีกด้วย