การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ทำพิธีเดินเครื่องขุดเจาะโครงการก่อสร้างอุโมงค์ Outgoin ชิดลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร ซึ่งเป็นอุโมงค์เชื่อมต่อระบบจ่ายไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความเพียงพอ มั่นคง รวมทั้งช่วยปรับทัศนียภาพของกรุงเทพมหานคร ให้สวยงาม ปลอดภัย ก้าวสู่การเป็นมหานครแห่งอาเซียน “Smart Metro” ที่ อาคารสำนักงานการไฟฟ้านครหลวง เพลินจิต
นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ประธานพิธีเปิดเครื่องขุดเจาะโครงการก่อสร้างอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดิน กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการสำคัญในการวางแผนระบบไฟฟ้าในอนาคต เพราะเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ที่เชื่อมต่อไฟฟ้าขนาดใหญ่ รวมทั้งเพิ่มเส้นทางการจ่ายไฟฟ้า ด้วยระบบสายไฟฟ้าแรงสูงใต้ดิน ให้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมืองมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างในส่วนต่อขยายจากอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินเดิมของ กฟน. ที่ปัจจุบันเชื่อมต่อการจ่ายระบบไฟฟ้าระหว่างสถานีต้นทางบางกะปิ ถึงสถานีต้นทางชิดลม การก่อสร้างจะเริ่มต้นจากถนนชิดลม ถึงถนนสารสิน (ตลอดแนวถนน) และถนนเพลินจิต(จากแยกชิดลม ถึงแยกเพลินจิต) ที่มีลักษณะเป็นอุโมงค์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร ลึกประมาณ 40 เมตร มีความยาวของอุโมงค์ประมาณ 1300 เมตร จะถือว่าเป็นอุโมงค์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยการก่อสร้างครั้งนี้ใช้วิธีก่อสร้างอุโมงค์แบบ Shielded Tunneling ด้วยเครื่องขุดเจาะขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.6 เมตรและ 3.6 เมตร เป็นรูปแบบที่สามารถขุดอุโมงค์พร้อมกับการติดตั้งผนังอุโมงค์ เพิ่มความแข็งแรงได้ในคราวเดียวกัน และยังสามารถกำหนดทิศทางการเจาะเป็นเส้นโค้งได้อีกด้วย
ด้านความปลอดภัยของระบบภายในอุโมงค์ไฟฟ้านี้ มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆเข้ามาใช้ เช่น ระบบป้องกันความปลอดภัยในกรณีเกิดอุทกภัย ป้องกันการรั่วซึมของน้ำ ด้วยระบบระบายน้ำ การก่อสร้างทางลงอุโมงค์ในระยะพ้นน้ำในความสูง 1.2 เมตร รวมทั้งติดตั้งระบบแจ้งเตือนอัคคีภัย และระบบระบายอากาศ เพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ หากเมื่อเทียบกับสายไฟฟ้าอากาศ ใต้ดินจะมีสิ่งรบกวนจากภายนอกน้อยกว่า หากในกรณีที่เกิดปัญหาจะมีเครื่องตรวจสอบที่ทำการส่งคลื่นเข้าไปยังจุดที่มีปัญหา เพื่อสะท้อนกลับมาเป็นระยะทาง ทำให้ทราบตำแหน่งและดำเนินการแก้ไขได้อย่างตรงจุด โดยการดำเนินการก่อสร้างทั้งหมดใช้งบประมาณกว่า 878 ล้านบาท มีระยะเวลาก่อสร้าง 1080 วัน (พ.ศ.2560-2563) สำหรับการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินนั้นมีขั้นตอนและกระบวนการทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อน ระหว่างการก่อสร้างอาจพบอุปสรรคขณะขุดเจาะได้ จึงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
ส่วนประโยชน์จากการโครงการครั้งนี้ จะช่วยรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าในย่านธุรกิจสำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมทั้งช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบการจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับสายไฟฟ้าแรงสูงบนพื้นดิน เช่น อุบัติเหตุ หรือลมพายุฝนในฤดูกาลต่างๆ และยังรองรับการเชื่อมต่อสายไฟฟ้าแรงสูง กับโครงการเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน และยังเป็นการเชื่อมต่อกับท่อร้อยสายที่ กฟน. ก่อสร้างร่วมกับเส้นทางรถไฟฟ้าในถนนเพลินจิต ถือเป็นการดำเนินการที่เชื่อมโยงครอบคลุมแบบบูรณาการ ทำให้เกิดประโยชน์และมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดินแรงดันสูง 230 กิโลโวลต์ ของ กฟน. ปัจจุบันมีจำนวนรวม 4แห่ง แบ่งเป็นโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว คือ อุโมงค์สถานีต้นทางบางกะปิ ถึงสถานีต้นทางชิดลม ระยะทาง 7กิโลเมตร และอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าลาดพร้าว-วิภาวดี ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ คือโครงการบริเวณคลองพระโขนง และโครงการอุโมงค์ Outgoin สถานีต้นทางชิดลม ซึ่งแต่ละโครงการ ทาง กฟน. ได้มีการวางแผนบริหารจัดการจราจรร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบริหารจัดการการปิดพื้นที่ เพื่อเร่งรัดการทำงานให้เสร็จโดยเร็ว รวมทั้งการจัดการจราจรให้ส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งมีแผนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบความคืบหน้าตลอดระยะเวลาดำเนินการ มีการลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้าง หรือพื้นที่ใกล้เคียง ให้ได้รับทราบก่อนดำเนินการ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center โทร 1130 ตลอด 24ชั่วโมง