องคมนตรี ติดตามการบริหารจัดการน้ำ บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

03 กันยายน 2561, 20:05น.


วันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2561 พลอากาศเอกชลิต  พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปติดตามการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อรับฟังสรุปผลสถานการณ์น้ำปัจจุบัน รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการน้ำในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ช่วงฤดูน้ำหลากและช่วงฤดูฝนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะสร้างสุขให้กับพสกนิกรชาวไทย





โดยในช่วงเช้าองคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รับฟังรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ จากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามแนวพระราชดำริ และโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากผู้แทนกรมชลประทาน





สืบเนื่องมาจากฝนตกหนักในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ส่งผลให้แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จังหวัดนครสวรรค์ อย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (2 กันยายน 2561)ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,339 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 66 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 9,643 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 53 ของปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งหมด สามารถรับน้ำได้รวมกันอีก 8,532 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 34  โดยโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำหน้าที่ในการช่วยระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่สามารถร่นระยะทางการระบายน้ำจาก 18 กิโลเมตร เหลือ 600 เมตร ให้ไหลออกสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็วซึ่งเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมต่อพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 





โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 “ให้พิจารณาใช้คลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นทางลัดระบายน้ำเหนือ ซึ่งจะทำให้ช่วยระบายน้ำได้เร็วเพราะระยะทางสั้นเพียง 600 เมตร ก็ออกทะเลหากวันใดมีน้ำทะเลขึ้นสูงก็ปิดประตูไม่ให้น้ำทะเลเข้ามา”  โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ ตั้งอยู่ในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สร้างเสร็จเมื่อปี 2548 และเปิดบานระบายเพื่อใช้งานในช่วงเดือนตุลาคม 2559 สามารถร่นระยะทางการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาจาก 18 กิโลเมตร เหลือ 600 เมตร และลดเวลาจาก 5 ชั่วโมง เหลือเพียง 10 นาที ประสิทธิภาพการระบายน้ำสูงสุดเฉลี่ย 45-50 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน โดยในปี 2554 สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลสูงสุดถึง 5,774 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมต่อพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 



จากนั้น ในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะฯ ได้เดินทางไปยังโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทาน แนวทางการบริหารจัดการน้ำแก้มลิง เมื่อพฤศจิกายน 2538 โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยระบายน้ำท่วมขังจากพื้นที่ตอนบนทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด ด้วยการก่อสร้างประตูระบายน้ำ พร้อมสถานีสูบน้ำ โดยมี “แก้มลิง” ทำหน้าที่รวบรวม และรับน้ำท่วมขังจากพื้นที่ตอนบนลงมาเก็บไว้ในคลองมหาชัย-คลองสนามชัย และระบายออกลงสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร





โครงการนี้ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 76.42 ตร.กม.ใช้คลองต่างๆ เป็นแก้มลิงในการกักเก็บน้ำมีความจุประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. มีสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ จำนวน 25 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร จำนวน 12 แห่ง กรมชลประทาน จำนวน 10 แห่ง และกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน  3 แห่ง โดยการบริหารจัดการน้ำ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ในช่วงน้ำปกติ จะปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ โดยการเปิดประตูระบายน้ำเพื่อรับน้ำคุณภาพดีจากทะเล เข้ามาหมุนเวียนในระบบแก้มลิง เมื่อน้ำทะเลหนุนสูง จะทำการปิดประตูระบายน้ำ เมื่อน้ำทะเลไหลลงก็จะเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อระบายน้ำในคลองมหาชัยออกสู่ทะเล เป็นการหมุนเวียนน้ำให้มีคุณภาพดีขึ้น





ในช่วงน้ำหลากนี้ จะมีการปิดประตูระบายน้ำทั้ง 10 แห่ง ตามการขึ้นลงของน้ำทะเล เมื่อระดับน้ำทะเลลดลง จะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำในคลองมหาชัยออกสู่ทะเลโดยระบบแรงโน้มถ่วงของโลกตามธรรมชาติ เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลอง ให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ และใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าสูบน้ำออกจากคลองมหาชัย เป็นการพร่องน้ำภายในระบบแก้มลิง เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเติมตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง



CR:กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X