เวทีเสวนาร่างพ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ มองว่า เภสัชกร เหมาะสมที่จะทำหน้าที่จ่ายยา คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค

03 กันยายน 2561, 18:43น.


การเสวนาในหัวข้อ(ร่าง)พระราชบัญญัติยา ฉบับใหม่ โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากมีกระแสจากผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการแพทย์ถึงการเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เภสัชกรหญิง สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป็นเวลา 30 กว่าปีแล้วที่ไม่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติยา โดยกฎหมายพ.ร.บ.ยา ระบุถึงหน้าที่ของเภสัชกรไว้ชัดเจนว่ามีหน้าที่จ่ายยา เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และพ.ร.บ.ยาที่ผ่านมาก็ไม่ได้มุ่งนิยามถึงแค่หน้าที่ของเภสัชกร แต่สิ่งสำคัญคือ การมุ่งให้ความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ซื้อยาไปทาน มีความพยายามแก้ไขพ.ร.บ.ยาอยู่เป็นระยะแต่ก็ไม่สำเร็จ จนครั้งล่าสุดที่มีความพยายามแก้ไขคือช่วงปี 2557 จนกลุ่มเภสัชกร ต้องยื่นหนังสือประท้วงไปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)



ขณะที่เภสัชกร รายอื่น ระบุว่า หากจะออกกฎหมายให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นจำหน่ายยาได้ ก็ควรให้เภสัชกรไปยืนควบคุมการจ่ายยา หรือต้องมีระบบการเก็บยาเหมือนเภสัชกร ไม่เช่นนั้นอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค พร้อมมองว่าเภสัชกรเป็นวิชาชีพที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำหน้าที่จ่ายยา เนื่องจาก มีใบประกอบโรคศิลป์ที่ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นไม่มี ดังนั้นหากให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นมีสิทธิ์จ่ายยาได้แล้ว ก็ไม่เห็นว่าเภสัชกร จะต้องเรียนไปเพื่อเหตุใด



ส่วนภาคประชาชนที่เข้าร่วมฟังเสวนา มองว่า หากร่างพ.ร.บ.ยานี้ออกมา โดยให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นจ่ายยาแทนเภสัชกรได้ จะทำให้เกิดช่องว่างและเกิดความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภคในการซื้อยา อีกทั้งร่างพ.ร.บ.ยาฉบับนี้ยังมีเรื่องของธุรกิจและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงน่าเป็นห่วงสำหรับการออกร่างพ.ร.บ.ยามาบังคับใช้



ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร



 

ข่าวทั้งหมด

X