หลังจากหลายฝ่าย มีข้อคิดเห็นต่างกันถึงร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ ที่มีการแก้ไขให้วิชาชีพอื่นเป็นผู้จ่ายยาแทนเภสัชกรได้ เภสัชกรหญิงรุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ข้อกังวลหลักๆของร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ที่ทำให้เป็นประเด็นปัญหามีอยู่ 2 ประเด็น คือ เรื่องการจำแนกกลุ่มยา และเรื่องวิชาชีพของผู้จ่ายยาว่าใครควรจะเป็นผู้จ่ายและจะมีหลักในการจำแนกกลุ่มยาอย่างไร ทั้งนี้ ในนามเครือข่ายคณาจารย์ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน 5 ข้อ ข้อแรก ขอให้ชะลอร่างพ.ร.บ.ยาเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ข้อต่อมาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมผู้ที่คัดค้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อยุติ ข้อที่สาม ให้สถาบันการศึกษาทางเภสัชศาสตร์จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อที่สี่ เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการให้ได้ข้อยุติก่อนเหตุการณ์บานปลาย และข้อสุดท้าย คือ การออกร่างพ.ร.บ.ยา ต้องอยู่บนหลักวิชาการ และสอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคม โดยไม่ปิดกั้นความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
ทั้งนี้คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ยังไม่มีแผนจะยื่นข้อเรียกร้องนี้ต่อรัฐบาล แต่คาดหวังให้ทุกอย่างได้ข้อสรุปที่ชัดเจนโดยเร็วและจะเร่งหารือกับกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับรู้ โดยขณะนี้นักวิชาการ กำลังเร่งรวบรวมข้อมูลอยู่ คาดหวังให้ข้อเห็นต่างของพ.ร.บ.ยามีทางออกร่วมกันได้
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร