สภาพัฒน์ ห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

31 สิงหาคม 2561, 14:05น.


ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2561นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภค บริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวร้อยละ 8 โดยสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคขยายตัวต่อเนื่องเกือบทุกด้าน ซึ่งต้องเฝ้าระวัง ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงเหลือร้อยละ 2.72 การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปมีมากถึง 9,017 ล้านบาท


นายทศพร ระบุว่า อนาคตเทคโนโลยี จะเข้ามามีบทบาทและเป็นตัวเปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อการจ้างงานด้วย


ด้านปัญหาสังคมในไตรมาสที่สอง มีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 23,922 ราย มีผู้เสียชีวิต 1,746 ศพ คดีอาญาเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.1 หรือมีการแจ้งคดีอาญา 110,855 คดี โดยมาจากคดียาเสพติด 93,110 คดีหรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งต้องเร่งหามาตรการป้องกัน ที่สำคัญพบว่าขณะนี้มีผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยไทยมีผู้ต้องขังมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ทั่วประเทศมีผู้ต้องขังมากกว่า 355,543 คน ทั้งที่เรือนจำรับได้แค่ 200,000 คน จึงขอให้ภาคเอกชนให้โอกาสผู้ที่เคยต้องขังทำงาน เพื่อให้กลับมาเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม


ส่วนการเจ็บป่วยมีผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังมากขึ้น 129,023 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมี 4 โรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ ไข้หวัดใหญ่, โรคมือเท้าปาก, โรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่ารวม 34,261 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนค่าบริโภคบุหรี่มีมูลค่ารวม 14,204 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.4


ด้านสถานการณ์ทางสังคมอื่นๆที่สำคัญ พบว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้ขึ้นมาอยู่ใน "เทียร์ 2" แต่มีความกังวลเกี่ยวกับมลพิษขยะพลาสติก ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันคนไทย 1 คนใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยวันละ 8 ใบ หรือวันละมากกว่า 500 ล้านใบทั่วประเทศ สร้างขยะกว่า 27 ล้านตันต่อปี ซึ่งต้องเร่งแก้ไขและรณรงค์ปรับเปลี่ยนการใช้


โดยในวันนี้ สภาพัฒน์ ยังมีการเผยแพร่รายงานทางสังคมเรื่อง "การพัฒนาเด็กปฐมวัย" โดยนางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดต่อการวางรากฐานการพัฒนาเติบโตของมนุษย์ในทุกด้าน แต่มีปัญหาทั้งในด้านพัฒนาการ, ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ, การขาดความรู้และมาตรฐานการพัฒนา รวมถึงภาวะโภชนาการที่ทั้งขาดและเกิน ที่สำคัญครอบครัวมีการวางกรอบให้เด็กผิดพลาด คาดหวังให้เด็กต้องเก่ง เร่งให้อ่านออกเขียนได้ และปล่อยเด็กให้ใช้เทคโนโลยีโดยขาดความระมัดระวัง ทั้งยังขาดการบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพ ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อพัฒนาการโดยรวมของเด็ก ดังนั้นควรเร่งวางแผนครอบครัวและเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งมีกิจกรรมเชิงบวกให้ครอบครัวได้ร่วมทำกับเด็กเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ และทักษะการคิดของเด็กอย่างมีประสิทธิภาพด้วย


...


ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร
ข่าวทั้งหมด

X