กรณีที่กลุ่มเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้องเรียนว่าถูก บริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด หลอกลวงโดยอ้างว่าได้รับเงินสนับสนุนงบประมาณจากองค์การสหประชาชาติ ให้นำเงินมาช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบของเงินอุดหนุนเกษตรกร รายละ 1 ล้านบาท เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และรับซื้อผลผลิตจากการเกษตร แต่เกษตรกรจะต้องเสียค่าสมัครเป็นสมาชิกและเสียค่าอบรมด้วยนั้น
พลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ระบุว่า เบื้องต้นพบมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท และคาดว่าจะมีมากกว่านี้ เนื่องจากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558
จากการตรวจสอบประวัติ พบว่านายพิชย์พิพรรธ ศรีตระกูลรักษ์ หรือนายปีเตอร์ ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัทมีหมายจับติดตัวในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” จากการที่นางสาวณชณฆ์ ตรงใจ ประธานกรรมการบริษัทไชนี่ อินเตอร์คอปอเรชั่น จำกัด ถูกนายปีเตอร์หลอกลวงให้รวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 325 คน เพื่อจำหน่ายในต่างประเทศ แต่ผิดนัดชำระเงิน นอกจากนี้ยังมีหมายจับในข้อหา “ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยเจตนาที่จะไม่ให้ใช้เงินตามเช็คในขณะออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชี อันพึงจะให้ใช้เงินได้ และธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น” และยังมีความผิดในข้อหา “ฉ้อโกงทรัพย์” อีกด้วย
ชุดสืบสวนใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ จึงติดตามและจับกุมตัวนายปีเตอร์ ได้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี แต่นายปีเตอร์ปฏิเสธข้อกล่าวหา และอ้างว่าได้รับเงินสนับสนุนจำนวนมากจากองค์การสหประชาชาติ และธนาคารโลก เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบโครงการต่างๆ รวมทั้งให้เงินทุนกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยผู้ที่สนใจสามารถสมัครสมาชิก โดยเสียค่าสมัครจำนวน 200, 500, 1,000-5,000 บาท และเสียค่าอบรม 2,500 บาท และสามารถกู้เงินได้สูงสุดถึง 15 ล้านบาท
พลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ ระบุว่า ตอนนี้ปิดบริษัทไปแล้ว และจะดำเนินการจับกุมลูกน้องที่เข้าไปชักชวนชาวบ้านมาสมัครเป็นสมาชิกด้วย
ขณะที่องค์การสหประชาชาติ ปฏิเสธว่าบริษัท พันปีกรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด ไม่เคยสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และไม่ได้เป็นบริษัทภายใต้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของ FAO ด้วย เพราะการจะดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาเหล่านั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลของประเทศผู้รับก่อน จึงได้สั่งการให้ขยายผลต่อไป
โดยในวันนี้นางสาวณชณฆ์ เดินทางมามอบพยานหลักฐาน เอกสารต่างๆ ของผู้เสียหายในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มามอบให้ตำรวจด้วย พร้อมกับระบุว่า ขณะนี้ทางผู้เสียหายที่เข้าให้ข้อมูลกับตำรวจ ถูกข่มขู่คุกคามจากเครือข่ายของผู้ต้องหา และมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ มีผู้หลงเชื่อหลายคนมอบเอกสารข้อมูลต่างๆ ทั้งสำเนาบัตรประชาชน และหน้าแรกสมุดบัญชี ซึ่งทางผู้ให้กู้ไม่ให้ลงนามเอกสารคร่อมสำเนาบัตร แต่ให้ลงนามด้านล่างกระดาษแทน ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าจะนำเอกสารไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย เพราะเอกสารหายไปรายละ 5-6 ชุด
...
ผสข.ปภาดา พูลสุข