ภาพรวมด้านกำลังแรงงานของประเทศไทย ประจำไตรมาสสอง ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2561
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า ไตรมาสที่สองปี 2561 ประเทศไทยมีกำลังแรงงานรวมและผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 และ 0.9 ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยขณะนี้ประเทศมีกำลังแรงงานทั้งสิ้น 38,500,000 คน (สามสิบแปดล้านห้าแสนคน) และมีผู้มีงานทำจำนวน 37,900,000 คน (สามสิบเจ็ดล้านเก้าแสนคน) มีผู้ว่างงานอยู่ 411,155 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยพบว่าผู้ที่จบระดับอุดมศึกษาว่างงานอยู่ถึง 120,419 คน คิดเป็นร้อยละ 29.3 ของผู้ว่างงานทั้งหมด สาขาที่จบแล้วว่างงานมากที่สุดคือ ศึกษาศาสตร์, ธุรกิจและบริหาร และวารสารและสารสนเทศ ส่วนด้านวิศวกรรมศาสตร์และคอมพิวเตอร์ แม้มีความต้องการจากตลาดแรงงานมาก แต่กลับมีผู้ว่างงานมากเช่นกัน เนื่องจากผู้สมัครรองานที่ให้ค่าตอบแทนตามที่มุ่งหวัง ซึ่งสวนทางกับศักยภาพของผู้สมัครที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการ
ส่วนการจ้างงานขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 โดยภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ภาคอื่นๆการจ้างงานยังทรงตัว แต่มีสัญญาณการจ้างงานที่ดีขึ้นในหลายสาขา โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส ด้านค่าจ้างของแรงงานภาคเอกชนพบว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 แต่ค่าจ้างภาคเกษตรลดลงร้อยละ 0.1 โดยชั่วโมงการทำงานของแรงงานในไตรมาสสองอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
สำหรับแนวโน้มตลาดแรงงานตลอดปี 2561 มองว่าการจ้างงานและการผลิตน่าจะปรับดีขึ้นทุกภาคส่วนตามสภาวะเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์ตั้งเป้าว่าทั้งปีเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.5 โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่การจ้างงานน่าจะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังต้องติดตามเเละเฝ้าระวังภาคแรงงานอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ ประเด็นแรกคือ ความเสี่ยงจากอุทกภัย เนื่องจากมีฝนตกหนักซึ่งส่งผลต่อการผลิตและการมีงานทำในภาคเกษตรที่ต้องเฝ้าระวังและหามาตรการบรรเทาผลกระทบ ประเด็นต่อมา คือ ปัญหาการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่คาดว่าปี 2561จะมีผู้จบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกกว่า 500,000 คน เป็นผู้จบปริญญาตรีถึง 320,000 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 64 ส่งผลให้การว่างงานอาจเพิ่มขึ้น
นายทศพร ระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ผู้จบปริญญาตรีต้องตกงาน เพราะค่านิยมเลือกเรียนปริญญาตรีมากกว่าสายอาชีวะ ส่งผลให้จบการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยขณะนี้ตลาดแรงงานอาชีวะขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก ทำให้มีแนวโน้มที่ค่าตอบแทนของผู้จบสายอาชีวะจะไม่แตกต่างจากผู้จบปริญญาตรี ซึ่งมองว่าเป็นปัญหาโครงสร้างทางการศึกษาที่ท้าทาย และต้องเร่งแก้ไข
....
ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร