กรมสุขภาพจิต เสนอการแก้ปัญหาติดโซเชียล ใช้หลัก 3 ต้อง 3 ไม่ เด็กเล็กเลี่ยงเล่นสมาร์ทโฟน

25 สิงหาคม 2561, 15:03น.


นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเกือบ 600 ล้านคนทั่วโลก และมีราวๆ 10 ล้านคนในไทย สถิติการใช้ทุกๆ 20 นาที มีการอัพโหลดรูปถ่ายมากกว่า 3.7 ล้านรูป แชร์ลิงก์ และอัพเดทสเตตัสมากกว่าล้านข้อความ เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกมีแนวโน้มจะติดโลกโซเชียลมากขึ้น คือ การไม่อยากอยู่อย่างโดดเดี่ยว ต้องการการมีตัวตนมากกว่าที่เป็นอยู่ มากกว่าที่คิด มีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องคนอื่น พอๆ กับต้องการให้คนอื่นรู้เรื่องของตัวเองและการยอมรับจากสังคม นอกจากนี้ พบว่า การติดโซเชียล ทำให้เกิดผลเสียทั้งต่อตัวเองและต่อสังคมที่รุนแรงในแต่ละช่วงวัย เช่น ในกลุ่มวัยก่อนเรียน พบปัญหาสมาธิสั้น สูญเสียทักษะสังคม การเสียการเรียนรู้จากประสบการณ์และการลงมือทำ กลุ่มวัยเรียน ทำให้เกิดปัญหาด้านความรุนแรง อ้วน สายตาเสีย เสียวินัย และผลการเรียนลดลง กลุ่มวัยรุ่น ทำให้เกิดค่านิยมการบริโภคติดอินเทอร์เน็ต การรังแกกันทางโซเชียล การล่อลวงค่านิยม และพฤติกรรมทางเพศ ผิดปกติ



สำหรับการป้องกันแก้ไขปัญหา ปัจจุบันได้มีการบรรจุการติดโซเชียลเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและบำบัด แบ่งประเภทของการติดโซเชียลมีเดียเป็น 3 แบบ คือ ติดสาระ เช่น ติดเกม ติดพนัน, ติดสัมพันธ์ เช่น ติดเฟซบุ๊ก และติดอุปกรณ์ เช่น ติดรุ่นของสมาร์ทโฟน หากสงสัยว่าติดโซเชียล ให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ข้อมูลจากการประชุมวิชาการพบว่า วิธีป้องกันไม่ให้เกิดผลจากการใช้โซเชียล แนะนำไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเล่นอุปกรณ์สมาร์ทโฟน  มีการเสนอให้เพิ่มหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน ให้เด็กรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกันในการใช้งานอินเตอร์เน็ตเพื่อให้เด็กรู้เท่าทัน ตระหนักถึงผลเสียจากการใช้โซเชียลที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งเรียนรู้วิธีการใช้อย่างเหมาะสม และต้องเพิ่มการให้คำแนะนำพ่อแม่ด้วย



นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต แนะนำการควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตในครอบครัวว่าให้ใช้หลัก “3 ต้อง 3 ไม่” คือ ต้องกำหนดเวลา ต้องกำหนดรายการ  ต้องเล่นกับลูก และไม่ใช้อินเตอร์เน็ตในห้องนอน ในเวลาที่เป็นเวลาของครอบครัว และพ่อแม่ผู้ปกครองต้องไม่เป็นแบบอย่างที่ผิด พร้อมแนะนำข้อควรปฏิบัติในการใช้อินเตอร์เน็ต คือ Do รู้เป้าหมาย ควบคุมเวลา ใช้วิจารณญาณกับเนื้อหา และใช้เพื่อทำสิ่งดีๆ ให้กับชีวิต และ Don’t คือ อย่าทำด้วยความรู้สึก เช่น เล่นอินเตอร์เน็ต เพราะรู้สึกเบื่อ เหงา ตื่นเต้น เล่นไปเรื่อยๆ งมงาย รุนแรง ลามก จมปลัก แต่ควรใช้อินเตอร์เน็ตด้วยเหตุผล เช่น เพื่อค้นหาความรู้ เพื่อผ่อนคลายความเครียด



CR:FB กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข



 

ข่าวทั้งหมด

X