หลังการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ช่วงปลายเดือนสิงหาคม มีแนวโน้มที่จะมีพายุลูกใหม่เคลื่อนเข้าประเทศไทย พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานในที่ประชุม แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์พายุดังกล่าว คาดการณ์จะส่งผลกระทบกับพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และในช่วงเดือนกันยายน ประมาณ 1-2 ลูก อ้างอิงจากสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยาที่พบว่าช่วงเดือนกันยายน จะมีพายุเข้ามามากที่สุด อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต้องเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ให้ชัดเจนมากขึ้น รองนายกรัฐมนตรี กำชับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จัดทำแผนและรายละเอียดเพื่อเตรียมนำเสนออีกครั้ง ซึ่งจะใช้แผนการเทียบเคียงจากปีก่อนอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา มาอ้างอิงด้วย นอกจากนี้ ยังกำชับการตรวจสอบอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่มีจำนวนมากโดยให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวบรวมข้อมูลอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทั้งหมด จัดทำไว้ในรูปแบบ One Map
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขณะนี้มีทั้งน้ำท่วมและเตรียมเข้าสู่สภาวะน้ำแล้ง ซึ่งไม่สามารถนำน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมมาเติมในพื้นที่แล้งได้ เนื่องจาก มีพื้นที่แตกต่างกันและอยู่คนละลุ่มน้ำ จำเป็นต้องหามาตรการ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงในที่ประชุมถึงการวางมาตรการขั้นต่อไป พร้อมทั้งการจัดทำฝนหลวง ซึ่งเห็นว่า จะไม่สามารถทำได้ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในช่วงเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่ฝนกำลังจะเข้ามา
ขณะที่ ด้านการเกษตร จะต้องไปตรวจสอบดูว่าอ่างเก็บน้ำใดบ้างที่มีน้ำน้อย วางแผนการปลูกพืชรองรับและเน้นการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยต้องเตรียมการตั้งแต่ตอนนี้ เนื่องจาก เหลือระยะเวลาอีก 1 - 2 เดือน
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ว่า ยังคงมีอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำเกินร้อยละ 80 อยู่ 2-3 แห่ง เช่น เขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี สั่งให้กฟผ.จัดทำแผนระบายน้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่จะต้องคำนึงปริมาณน้ำท้ายเขื่อนด้วย ส่วนเขื่อนน้ำอูน ยังคงมีฝนเข้ามาในอ่างเก็บน้ำ และปัจจุบัน ปริมาณน้ำเกินปริมาณการกักเก็บแล้ว จึงต้องเพิ่มเรื่องกาลักน้ำเข้าไป
ด้านเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีแนวโน้มดีขึ้น เพื่อความไม่ประมาท จะต้องเพิ่มกาลักน้ำเข้าไปเช่นกัน ที่ประชุมยังได้กำชับว่าในทุกพื้นที่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและแจ้งเตือนประชาชนตามมาตรการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อให้ประชาชนรับรู้และเตรียมรับมือล่วงหน้าได้ทัน
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม