นายประวิทย์ มาลีนนท์ รองประธานกรรมการ บมจ. บีอีซี เวิล์ด (BEC) เปิดเผยผ่านรายการโทรทัศน์ว่า เหตุผลที่ช่อง 3 อนาล็อกซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ไม่สามารถออกอากาศคู่ขนานไปกับช่อง 3 ดิจิทัลที่ประมูลได้ในนามของ บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด ได้ เพราะถือเป็นคนละบริษัท ซึ่งผิดข้อกฎหมายมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ไม่เหมือนกับช่อง 7 ที่ใช้ชื่อบริษัทเดียวกันกับที่ได้ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ดังนั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จึงต้องเข้ามาช่วยแก้ไขในข้อกฏหมายดังกล่าว เพราะหากไม่มีการออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ในอนาคตเมื่อเปลี่ยนตัวกรรมการ กสท. ทางช่อง 3 อนาล็อกก็อาจเจอวิบากกรรมเรื่องนี้ หาก กสท.ไม่สามารถช่วยให้ช่อง 3 อนาล็อกเกิดจอดำ หรือหากใกล้วันที่จะจอดับ (28 ก.ย.)แล้วยังไม่ได้ข้อสรุป ทางช่อง 3 ก็จะยื่นต่อศาลปกครองให้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพราะหากปล่อยให้จอดำคงก็ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้แล้ว และจะยื่นฟ้องดำเนินคดีกับ กสท.เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับช่อง 3 อนาล็อก คือ ค่าโฆษณาจะหายไป เพราะทางบริษัทจะคืนเงิน 70% ตามสัดส่วนผู้ชมให้แก่ลูกค้า และจะเกิดผลต่อสถานะการเงินของบริษัท โดยจะเกิดผลขาดทุนทันที ขณะเดียวกัน ผู้ชมของช่อง 3 อนาล็อกที่ผ่านเคเบิลทีวี และ ดาวเทียมจะหายไป ปัจจุบันมีผู้ชมรับชมช่อง 3 อนาล็อกผ่านเคเบิลทีวี และดาวเทียม ประมาณ 15-16 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 50 ล้านคน คิดเป็น 70% ของระบบ
นายประวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันอุปสรรคใหญ่คือ กสท.แจกคูปองส่วนลดกล่อง set top box ช้ากว่าแผนที่เดิมจะแจก เม.ย. 2557 ขณะเดียวกันการขยายโครงข่าย(MUX) ก็ต้องใช้เวลา จึงเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ต้องลงทุนไปทั้งที่ไม่มีคนดู แต่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตให้นับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาต เห็นว่า แท้จริงแล้วหากมีการเปลี่ยนผ่าน กสท.ควรจะให้มีโครงข่ายรองรับให้ทั่วถึงก่อน และแจกคูปองให้พร้อมก่อน ค่อยมาเปิดประมูลหาผู้ประกอบการการ จึงเห็น่วาเป็นติดกระดุมผิดเม็ด
นายฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน BEC กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสท.ไม่เคยมีนโยบายให้มีการออกอกาศคู่ขนานทั้งช่อง 3 และช่อง 7 แต่กำหนดให้ช่อง 5 ช่อง 11 และ ช่องไทยพีบีเอส เท่านั้นที่ออกอากาศคู่ขนานได้