หลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในที่ประชุมได้ทำแผนงานด้านความมั่นคงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ การรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านเศรษฐกิจ และ สังคมทั้งในและต่างประเทศ สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้านของประเทศล้วนมีความมั่นคงเกี่ยวข้องทั้งหมดจึงจำเป็นที่จะต้องนำเรื่องของความมั่นคงมาร้อยเรียงและใช้ให้เหมาะสม ในที่ประชุมยังกำหนดกฎหมายการใช้กล้อง CCTV ที่ชัดเจนเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ที่ต้องบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ประชุมยังมีการพิจารณาแผนแม่บทรักษาความปลอดภัยทางทะเล ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การค้ามนุษย์ และการข้ามแดนผิดกฎหมาย ซึ่งฝ่ายความมั่นคง ต้องมีการบูรณาการร่วมกัน โดยจะนำข้อสังเกตในที่ประชุมมาปรับแก้และประสานการดำเนินการต่อไป นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในเรื่องของการข่าวมีการปรับในการใช้เครื่องมือโดยเชื่อมโยงภาคประชาชน ซึ่งการข่าวมีทั้งเชิงยุทธศาสตร์ และการข่าวทางด้านยุทธวิธี และจะต้องดำเนินการสอดคล้องกับเรื่องการใช้งานและการติดตั้งกล้อง CCTV ด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการเตรียมความพร้อมที่จะมีการคลายล็อคทางการเมืองในเดือนหน้า ซึ่งหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คือการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับคนหลายส่วนซึ่งมีทั้งส่วนที่ต้องการให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และสร้างความขัดแย้ง ซึ่งได้จับตาดูอยู่ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ที่จะต้องสร้างการรับรู้ไม่ใช่สร้างความขัดแย้ง พร้อมขอให้สื่อจับตา ผู้ที่เขียนข้อความที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ประเมินทุกกลุ่มอยู่เช่นกัน
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การที่จะเป็นประชาธิปไตยในวันข้างหน้าจะต้องได้รับการแก้ไขและแม้ว่าจะมีฝ่ายที่ชอบหรือไม่ชอบ ก็ต้องยอมรับการเลือกตั้งในวันข้างหน้า ซึ่งวันนี้รัฐบาลทำให้ทั้งเสียงส่วนน้อยและส่วนมาก ไม่ว่าจะคนพรรคไหนก็ตาม ทั้งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน
ส่วนการลงพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้มองว่าใครอยู่ฝ่ายไหนแต่มองว่าประชาชนต้องการอะไร เพราะรัฐบาลดูแลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเสียงส่วนใหญ่หรือเสียงส่วนน้อย ดังนั้นไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็จะต้องมีหน้าที่ดูแลประชาชนให้ครบทั้งหมด
ส่วนเรื่องที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เรื่องการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รับทราบมาโดยตลอดพร้อม ย้ำว่าการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมปที่มีกรอบระยะเวลากำหนดไว้แล้ว
ส่วนเรื่องการทำไพรมารีโหวต ระบุว่าต้องทำให้ได้หรืออย่างน้อยต้องทำให้ได้ในระดับหนึ่งเพราะกฎหมายมีการระบุไว้แล้ว ซึ่งหากไม่ทำ ก็จะทำให้การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นตามกำหนดเวลา ในส่วนตัวต้องการให้ทุกอย่างเดินหน้าตามโรดแมป และคิดว่าการเลือกตั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ถือว่าเหมาะสมที่สุดแล้วแม้ความเป็นจริงจะสามารถยืดเวลาออกไปได้
ส่วนจะใช้มาตรา 44 แก้ไขเรื่องการทำไพรมารีโหวตหรือไม่ มองว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจของตนเองซึ่งจะใช้อำนาจ แก้ไขเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งตามที่ทุกคนต้องการ
นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า รัฐบาลคสช.ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับใคร ไม่เช่นนั้น รัฐบาลคสช.จะเป็นกลางได้อย่างไร ในเมื่อการเมืองยังไม่เริ่ม แต่ปี่กลองก็เริ่มแล้ว
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี