ชาวบ้านในต.ธนู เผย การกำจัดผักตบชวาแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียได้ดี

17 สิงหาคม 2561, 12:35น.


การลงพื้นที่ในกิจกรรม “kick off กำจัดผักตบชวา และวัชพืช” ตามนโยบายคลองสวยน้ำใส และหน้าบ้านน่ามองในรูปแบบประชารัฐ ที่คลองข้าวเม่า ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา  



นายเฉลียว สุขประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลธนู เปิดเผยว่า ปกติจะมีการเก็บผักตบชวาอยู่แล้วทุกวัน วันละเล็กละน้อย แต่จะมีการเก็บใหญ่ปีละ 2ครั้ง ซึ่งหน้าวัดขุนทิพย์ ถือว่าเป็นจุดหลักที่จะใช้เก็บผักตบชวา แต่ละครั้งจะสามารถเก็บผักตบชวาได้กว่า 200ตัน เมื่อเก็บขึ้นมาจะนำขึ้นมาคัดแยก ผักตบชวาจะนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก หรืออีเอ็มบอลแบบน้ำ ที่นำมาใช้แก้ปัญหาน้ำเสีย ซึ่งไม่มีต้นทุน เพราะผลิตเอง โดยดำเนินการมากว่า 6ปี พบว่าสภาพน้ำไม่เน่าเสีย รวมทั้งผลผลิตที่นำมาใช้ภายในชุมชน ก็จะนำมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านไปใช้ เช่น เป็นปุ๋ยต้นไม้ ไร่นา หรือแม้กระทั่งแปรรูปเป็นน้ำยาล้างจาน สบู่ นอกจากนี้บางส่วนจะแบ่งจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้กลับสู่ชุมชน



นางอนงค์ นารถ ประชาชนในพื้นที่ ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ตนอาศัยในพื้นที่มากว่า 50ปี ตั้งแต่จำความได้ก็ช่วยกันเก็บผักตบชวาตลอดเวลาบริเวณหน้าบ้าน โดยเก็บสัปดาห์ละประมาณ 1ครั้ง ซึ่งบ้านอื่นๆก็จะช่วยกันเก็บ เพราะถือเป็นวิถีชีวิตริมคลอง หากไม่เก็บก็จะมีปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเน่าเหม็น และยังส่งผลกับสัตว์น้ำอีกด้วย เพราะชาวบ้านที่นี่ ส่วนมากจะมีอาชีพหาปลา ทั้งนำไว้บริโภคและนำไปขายเพื่อเป็นรายได้ครอบครัว หลังจากมีกิจกรรม “kick off กำจัดผักตบชวา และวัชพืช” ตนรู้สึกดีมาก เพราะมีการรวมตัวกันเก็บผักตบชวา ไม่เพียงแค่ชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ทำให้ลำคลองสะอาด หน้าบ้านน่ามองมองยิ่งขึ้น





สำหรับคลองข้าวเม่า ถือเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ ในอดีตกาลกองทัพพม่ายกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้สั่งให้ยกกองทัพตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่า ออกมาทางทิศตะวันออก และได้เดินทัพผ่านมายังชุมชนแห่งหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นทหารไทย ขาดเสบียงอาหาร ชาวบ้านในชุมชน จึงได้นำเสบียงอาหารมาช่วยกองทัพทหาร ซึ่งฤดูนั้นเป็นช่วงที่ข้าวกำลังจะเริ่มแก่ ชาวบ้านจึงทำข้าวเม่า มาสมทบเป็นอาหารหลัก





ทำให้ขนานนามหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “ข้าวเม่า” คลองข้าวเม่า มีความยาวประมาณ 14กม. โดยรับน้ำมาจากคลองระพีพัฒน์ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก ไปรวมกันที่แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงวัดพนัญเชิงวรวิหาร ก่อนจะผ่านเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาคลองข้าวเม่า เคยเจอปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 และช่วงน้ำหลาก ทำให้ชาว จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่ม ต้องช่วยกันหาทางป้องกันและแก้ไข ปัจจัยที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม สำหรับปัจจุบันระดับในคลองข้าวเม่า ยังต่ำกว่าระดับตลิ่งเกือบ 2 เมตร



 



วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์ ผู้สื่อข่าว



 

ข่าวทั้งหมด

X