การจัดระเบียบผู้ค้าถนนข้าวสาร ภายหลังการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไข โดยกรุงเทพมหานคร(กทม.) ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า หลังร่วมกันพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ที่ประชุมมีความเห็นถึงการทำให้ผู้ค้า สามารถขายบนทางเท้าได้อย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากถนนข้าวสารถือเป็นจุดที่มีอัตลักษณ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยจะดำเนินตามมาตรา 20 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้กรุงเทพมหานคร สามารถพิจารณาจุดผ่อนผันในการซื้อขายหาบเร่แผงลอยได้ หลังจากนี้จึงจะเริ่มร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องการกำหนดจุดผ่อนผัน เพื่อให้จุดดังกล่าวเป็นจุดที่สามารถค้าขายได้อย่างถูกกฎหมาย ภายใต้เงื่อนไขการจัดระเบียบผู้ค้าตามบัญชีที่สำนักงานเขตพระนครเคยจัดทำไว้ประมาณ 200 ราย พร้อมพิสูจน์ทราบผู้ค้าที่แท้จริง และกำหนดให้ 1คน ต่อ 1 แผงเพื่อความเป็นธรรมกับผู้ค้าในพื้นที่ ด้วยขนาดแผง 1.50 เมตร ในช่วงเวลา 16.00 -24.00 น. โดยจะเร่งดำเนินการร่างประกาศให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด คาดว่าไม่เกิน 1 เดือน แต่ในระหว่างของการร่างประกาศอยู่ จะอนุโลมให้ผู้ค้าขายบนทางเท้าได้ตั้งแต่เวลา 18.00 - 24.00 น. และจะเริ่มปรับสภาพแผงค้าให้ได้ 1.50 เมตร ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานเขตพระนคร ไปพิสูจน์ทราบตัวผู้ค้า จัดขนาดแผงค้า 1.50 เมตร ภายใน 10 วัน
ส่วนแผนการตั้งแผงค้าบนผิวจราจร กองบัญชาการตำรวจนครบาล ชี้แจงถึงเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นไปเพื่อความปลอดภัยและความสะดวก ดังนั้นการจัดระเบียบตรงถนนข้าวสารจึงยังไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว หากดำเนินการเกรงว่าจะเกิดปัญหาภายหลัง
นอกจากนี้ จะมีการทำประชาพิจารณ์ ให้ผู้ค้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดระเบียบภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เช่น กำหนดเวลา กำหนดขอบเขตการขาย โดยมอบหมายให้สำนักงานเขตพระนครดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลว่าหากอนุญาตบริเวณจุดนี้แล้ว จะมีการขออนุญาตให้ผ่อนผันในจุดอื่นๆ ที่ยกเลิกไปก่อนหน้านี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า การผ่อนผัน ต้องขึ้นอยู่อัตตลักษณ์ ซึ่งมีไม่เหมือนกับถนนข้าวสาร จึงพิจารณาได้เพียงบางจุด โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านการจราจรด้วย ส่วนจุดที่ได้ยกเลิกไปแล้วไม่สามารถนำมาอ้างอีกได้ และหากในอนาคต จะมีการรวมตัวของผู้ค้าจุดอื่น เพื่อขอให้กรุงเทพมหานครกำหนดเป็นจุดผ่อนผัน เหมือนถนนข้าวสาร เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่ต้องพิจารณาเป็นกรณี ตามความเหมาะสม และขึ้นอยู่กับเรื่องการท่องเที่ยวของประเทศด้วย
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง การลงพื้นที่เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ถนนข้าวสาร ว่ายังพบสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าผิดกฎหมายกว่า 30,000 ชิ้น ไม่สามารถยอมให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายได้ แม้จะอนุโลมให้ขายของ แต่จะต้องไม่มีสินค้าผิดกฎหมายเกิดขึ้นในพื้นที่
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม