องคมนตรี ประชุมร่วมกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเขื่อนแก่งกระจาน-เขื่อนวชิราลงกรณ

09 สิงหาคม 2561, 15:25น.


วันนี้คณะองคมนตรี นำโดยนายพลากร สุวรรณรัฐ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เดินทางไปยังศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้องคมนตรีตรวจเยี่ยมเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และมอบสิ่งของพระราชทานให้แก่ราษฎรในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ



โดยมีนายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้บริหารกรมชลประทาน ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปรายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ที่มีระดับน้ำเกินความจุอ่างและเกินเกณฑ์ควบคุม ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนวชิราลงกรณ



ปัจจุบัน เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำในอ่างจำนวน 737 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 104 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างประมาณ 21 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ลดลงจากวานนี้ และมีปริมาณน้ำระบายออกจากอ่างรวมทั้งสิ้น 18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีน้ำล้นทางระบายน้ำล้น (Spillway) สูงประมาณ 60 เซนติเมตร สถานการณ์น้ำยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง



กรมชลประทาน คาดการณ์ว่าในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ระดับน้ำที่ล้น Spillway จะสูงสุดประมาณ 65 เซนติเมตร อัตราการไหลประมาณ 106 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อรวมกับปริมาณน้ำที่ระบายผ่านอาคารชลประทาน จะทำให้มีน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนแก่งกระจานรวม 224 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าว จะเกินความจุของแม่น้ำเพชรบุรีที่สถานี B.3A เล็กน้อย และอาจจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งบางแห่ง ที่จะมีระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร และคาดว่าในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ จะมีปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลมารวมกันบริเวณหน้าเขื่อนเพชรในเกณฑ์ 230 – 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที



กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำโดยการหน่วงน้ำไว้บริเวณหน้าเขื่อนเพชร และตัดน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้าย – ฝั่งขวา รวม 55 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และผันเข้าคลองระบาย D9 ในอัตรา 35 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมปริมาณน้ำที่ตัดเข้าระบบทั้งสิ้น 90 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านท้ายเขื่อนเพชรลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีในอัตรา 140 – 160 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเพชร ในเขตอำเภอท่ายางและอำเภอบ้านลาด จากนั้นปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลผ่านเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ในวันที่ 12 สิงหาคม อาจส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ชุมชนบางแห่ง ระดับน้ำสูงเฉลี่ยประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร  



ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการช่วยเหลือและเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน จำนวน 31 เครื่อง (สำรองไว้ 5 เครื่อง) และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า จำนวน 38 เครื่อง (สำรองไว้ 8 เครื่อง)



นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือ จำนวน 20 ลำ ติดตั้งในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณวัดคุ้งตำหนัก อำเภอบ้านแหลม ช่วยระบายน้ำลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น และได้เตรียมยานพาหนะและเครื่องจักรกลต่างๆ เช่น รถบรรทุก รถขุดตัก จำนวน 20 คัน ประจำอยู่ในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำอีกด้วย





สำหรับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างระยะยาวนั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการขุดลอกคลอง เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีออกสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด โดยการปรับปรุงคลอง RMC3 เชื่อมคลองระบาย D9 ความยาว 27 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีผลดำเนินงานร้อยละ 30 และกำลังอยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบโครงการขุดลอกคลองอีก 2 เส้นทาง คือ คลอง D1 ความยาว 23 กิโลเมตร และ คลอง D18 ความยาว 28 กิโลเมตร โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562



ส่วนเขื่อนวชิราลงกรณ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำประมาณ 7,537 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 85 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างวันละ 61 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำระบายวันละ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ ได้เพิ่มการระบายน้ำเป็น 43 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม ปัจจุบันสภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำยังไม่ล้นตลิ่ง ส่วนอ่างเก็บน้ำอื่นๆ ที่เกินเกณฑ์ควบคุม กรมชลประทานได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำ โดยเร่งการระบายน้ำ และยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่าง



 



ปภาดา พูลสุข ผู้สื่อข่าว

ข่าวทั้งหมด

X