การอบรมสื่อด้านการรายงานข่าวอุบัติเหตุทางถนน ที่จัดโดย Internews และ World Health Organizatation ซึ่งเป็นโครงการอบรมสื่อมวลชนจากภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ และสื่อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งตัวแทนผู้สื่อข่าวจากสถานีวิทยุ จส.100 เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 16คน มีระยะเวลาอบรม4เดือน แบ่งเป็นการทำกิจกรรมทำข่าวรูปแบบต่างๆเดือนละ 2-3วัน โดยสื่อมวลชนจะได้เข้าอบรม พร้อมผลิตผลงานข่าวอุบัติเหตุเชิงวิเคราะห์ สำหรับครั้งนี้ ถือเป็นการอบรมครั้งสุดท้ายของโครงการ ได้มีการตั้งวงเสวนาถึงอุปสรรคที่ต้องก้าวข้าม และพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ต้องร่วมสร้าง
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า การวิเคราะห์ถึงสาเหตุของอุบัติเหตุ เป็นสิ่งที่สื่อต้องมองลึกลงไปกว่าการรายงานข่าวรูปแบบเดิม ที่รายงานแค่เหตุอะไร เกิดที่ไหน มีผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตกี่คน แต่ต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุของอุบัติเหตุ เพื่อให้คนได้ทราบปัญหา เช่น กรณีรถบัสถอยรถทับเด็กนักท่องเที่ยวเสียชีวิต ที่ต้องสืบไปถึงระบบกำกับดูแลว่ารถบัสจะต้องมีคนขับที่เชี่ยวชาญ มีเด็กรถช่วยตรวจตรารอบๆรถทุกครั้งก่อนจะจอด หรือจะกลับรถ หรือแม้กระทั่งไกด์ ที่ต้องเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งจุดจอดรถ และจุดกลับรถขนาดใหญ่ของแต่ละสถานที่อีกด้วย
ด้านนพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า กว่า 2 หมื่นคนต่อปี ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ที่มีความรุนแรงไม่น้อยไปกว่าสถานการณ์น้ำท่วม ไข้เลือดออก หรือพิษสุนัขบ้า ที่ประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขในเชิงนโยบายที่เห็นผลชัดเจน โดยยกตัวอย่าง เช่น การแก้ไขปัญหาราคาสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ปัจจุบันสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้บ้าง เพราะรัฐบาลลงมาแก้ไขอย่างจริงจัง ถ้าหากมองดูแล้วประเทศไทยยังไม่มองว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องใหญ่ ไม่เพียงแค่เรื่องอุบัติเหตุทางถนนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทางน้ำ และทางอากาศอีกด้วย
ส่วนนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวอิศรา กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเสนอข่าวเชิงรณรงค์ หรือปลูกจิตสำนึกมากว่า 30ปี ไม่สามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง เพราะประชาชนไม่ได้กลัวการไม่มีจิตสำนึก หรือกลัวที่จะเกิดอุบัติเหตุ แต่ส่วนมากจะกลัวการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับมากกว่า อย่างเช่น ชาวต่างชาติเวลาอยู่ประเทศตนเอง จะกระทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะบทลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืนนั้นรุนแรง แต่เมื่อมาประเทศไทย ก็พบว่ามักจะฝ่าฝืนกฎหมายจราจรอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นจึงมองว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในประเทศไทย เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุ หรือความรุนแรงบนท้องถนนได้
จากนั้นที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือข้อจำกัดต่างๆกับผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมอบรม เพื่อหาแนวทางในการนำเสนอข่าว โดยคาดหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้ประเทศไทยสามารถลดจำนวนอุบัติเหตุ ลดจำนวนผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตได้จริง ซึ่งหลังจากนี้สื่อมวลชนต้องช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป