การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำชนิดเครื่องยนต์ดีเซล เร่งซ่อมแซมให้ใช้งานได้ทุกเครื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉินและกรณีเครื่องสูบน้ำชนิดไฟฟ้าไม่สามารถใช้การได้ขณะไฟฟ้าดับ พร้อมกำชับให้สำนักการระบายน้ำติดตามข้อมูลการปล่อยน้ำมายังเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาทและสถานีวัดน้ำบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อคาดการณ์มวลน้ำที่จะเข้ามายังเขตกรุงเทพมหานคร โดยปกติมวลน้ำหลักจากภาคเหนือจะไหลลงสู่เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นเขื่อนขนาดเล็ก หากมีปริมาณน้ำมากถึงจะพร่องน้ำลงมายังจังหวัดสระบุรี ผ่านจังหวัดลพบุรีและไหลมารวมกันที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก่อนเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ปัจจุบันภาพรวมสถานการณ์เขื่อนทั้ง 3 แห่งยังปกติ ไม่น่าเป็นกังวล กรุงเทพมหานครยังได้ประสานกับกรมอุทกศาสตร์ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ของกระทรวงมหาดไทย (มท.) กรมอุตุนิยมวิทยาและจังหวัดในปริมณฑล โดยเฉพาะกรมชลประทานเรื่องการติดตามข้อมูลการปล่อยน้ำอย่างใกล้ชิด
ส่วนที่มีการเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำในปีนี้ กับปี2554 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ขณะนั้นมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาและสถานีวัดน้ำบางไทร 3,800 ลูกบาศก์เมตร ส่วนปี 2561 ที่กังวลจะมีน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร อยู่ที่ 2,400-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรุงเทพมหานครสามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ ยกเว้นปริมาณน้ำตั้งแต่ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีขึ้นไป จะทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันมีระดับน้ำไม่ถึง 1,000 ลูกบาศก์ต่อวินาที แต่ยังคงมีกังวลเรื่องปริมาณฝนที่ตกหลังเขื่อน บริเวณจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานีและในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากมีปริมาณมากรวมกับปริมาณน้ำในเขื่อนทางภาคเหนือที่ปล่อยลงมา
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เชื่อว่า กรุงเทพมหานครจะไม่ประสบปัญหา เรื่องน้ำท่วมเป็นเพียงข้อกังวลเท่านั้น เพราะเตรียมแผนพร่องน้ำภายในคลองทั้งหมดแล้วพร้อมย้ำว่า การพร่องน้ำจะต้องไม่ทำให้กระทบต่อการเดินเรือภายในคลอง ส่วน ปัญหาน้ำรอระบายตามจุดอ่อนน้ำท่วม จากเดิมเคยใช้เวลาระบายน้ำ 4-5 ชั่วโมง ปัจจุบันใช้เวลาระบายน้ำไม่เกิน 1 ชั่วโมง ยืนยันสามารถรับมือสถานการณ์ได้ ทั้งขุดลอกคูคลอง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ก่อสร้างแก้มลิงและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมทั้งในกรุงเทพมหานครยังไม่ถึงขั้นต้องซักซ้อมแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำฉุกเฉิน เพียงแต่พูดคุยกับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับกรุงเทพมหานครเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด