หลังการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วง คือ ช่วงเขียวเหนือ (หมอชิต- สะพานใหม่-คูคต) ช่วงเขียวใต้ (แบริ่ง- สมุทรปราการ) โดยมีภาคเอกชนจากบริษัทเข้ารับฟัง 8 ราย
นายดุษฎี สถิรเศรษฐทวี ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและการบำรุงรักษา คาดการณ์ว่า ช่วงแรกของการเปิดให้บริการในส่วนต่อขยาย จำนวนผู้โดยสารช่วงเขียวเหนือสูงสุด 370,000 คนต่อวัน และสายเขียวใต้ 196,000 คนต่อวัน และจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ช่วงปี 2575-2585 สายเขียวเหนือร้อยละ 0.643 และสายเขียวใต้ ร้อยละ 0.688 โดยเฉพาะในเส้นทางสายเขียวเหนือที่คาดว่าผู้โดยสารจะหนาแน่น และเบาบางช่วง 3-4 สถานีสุดท้าย ด้านรายได้คาดการณ์ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น จนถึงปี 2584 ทั้ง 2 สาย รายได้รวมจะอยู่ที่ 20,582 ล้านบาท ส่วนรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนนั้น แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2562-2572 เอกชนจะรับภาระทางการเงินทั้งหมดของกรุงเทพมหานครที่เกิดขึ้นของโครงการในส่วนที่ไม่เพียงพอ และรับภาระส่วนต่างของรายได้จากกรณีอัตราค่าโดยสารปัจจุบันและอัตราค่าโดยสารตามระยะทางตลอดสาย
ส่วนระยะที่ 2 พ.ศ.2572-2585 เอกชนจะจัดซื้อทรัพย์สินทดแทนดำเนินงานด้านบำรุงรักษา มีรายได้เป็นของตัวเองและแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้กับกรุงเทพมหานครตามที่กำหนดในสัญญา
ด้านนายธนูชัย หุ่นนิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยอมรับว่า ในการร่วมลงทุนค่อนข้างมีข้อจำกัดจำนวนมาก แต่จะพยายามดำเนินการภายใต้ข้อจำกัดให้ดีที่สุด โดยโครงการนี้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้มีมติให้กรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 และ ให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุนในโครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งจากการเปิดโอกาสรับฟัง เห็นว่าภาคเอกชนยังไม่ค่อยมีการเสนอความเห็น หลังจากวันนี้ จะรวบรวมความเห็นจัดทำเป็นรายงานให้เสร็จสิ้นกลางเดือนสิงหาคม 2561 ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป