แนวทางการบริหารจัดการน้ำ หลังปริมาณน้ำในหลายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ขณะนี้ได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต" ตามคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อบูรณาการการทำงานในเชิงเทคนิค โดยศูนย์ฯคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคมนี้ โดยเฉพาะแถวจ.ตาก, จ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้นับจากนี้ 10 วันเป็นเวลาที่ต้องเร่งพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมรับน้ำฝนที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคม แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยา จะรายงานว่ายังไม่พบพายุพัดผ่านประเทศไทย ขณะนี้ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 12 อ่างที่มีปริมาณน้ำมาก และมีอยู่ 3 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเกินจนล้น ซึ่งต้องเฝ้าระวังและเร่งระบายน้ำ คือ เขื่อนน้ำอูน ที่ระดับน้ำสูงกว่าปกติ , เขื่อนแก่งกระจาน ที่น้ำเพิ่มวันละ 4-5 เซนติเมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำกว่าร้อยละ 92 และเขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งต้องเร่งระบายน้ำออกให้มากที่สุดก่อนที่ธรรมชาติจะบังคับให้ระบายน้ำกว่าเดิม ทั้งนี้ เร่งให้ภายใน 10 วันน้ำต้องลดให้ได้ หากไม่สำเร็จต้องประชุมหาแผนรับมือต่อ และประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ทำแผนว่าหากระบายน้ำแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง พร้อมได้กำหนดจุดพื้นที่เสี่ยง ยืนยันจะไม่มีการปิดกั้นข้อมูล และจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์เป็นระยะ
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับให้มีการตรวจความแข็งแรงของเขื่อนต่างๆ และศูนย์ฯจะต้องรายงานความก้าวหน้าของการจัดการน้ำโดยตรงต่อรองนายกฯทุกวัน ส่วนเขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนภูมิพล, เขื่อนเจ้าพระยา รวมถึงพื้นที่ภาคกลางยังไม่น่าห่วง
ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน ยืนยันว่า สภาพเขื่อนทั้ง 3 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำล้นยังมีความแข็งแรง คาดว่า เขื่อนวชิราลงกรณ จะสามารถพร่องน้ำได้แล้วเสร็จใน 15-20 วัน ยืนยันว่า ยังไม่มีผลกระทบใดๆต่อประชาชน อาจมีพื้นที่ลุ่มต่ำบางพื้นที่ของเขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนวชิราลงกรณ ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งให้ประชาชนบริเวณใกล้ 3 เขื่อนรับทราบสถานการณ์แล้ว
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร