เลขาธิการสํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเฝ้าระวังน้ำท่วมไทยโซนสีเหลืองเปิดศ.เฉพาะกิจ24ชม.

02 สิงหาคม 2561, 10:29น.


สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า  สถานการณ์น้ำของประเทศไทยในขนาดนี้อยู่ในโซนสีเหลือง โดยสถานการณ์น้ำริมแม่น้ำโขง เกิดจาก 2 สาเหตุ คือ ปริมาณฝนที่ตกในฝั่งลาว และการระบายน้ำที่มีปัญหาในฝั่งไทย เพราะฝนที่ตกในฝั่งลาวทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนล้นมาที่จังหวัดฝั่งไทย คือ จังหวัดเลย อุบลราชธานี หนองคาย มุกดาหาร และนครพนม จำเป็นต้องแจ้งเตือนเพราะปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้น 70 เซนติเมตร - 1 เมตร ขณะนี้ได้ประสานไปยัง ลาวและจีนเพื่อขอข้อมูลการระบายน้ำแล้ว เพื่อจะได้ทราบและเตรียมรับมือทัน



สำหรับกระแสข่าวว่าปีนี้มีปริมาณน้ำเทียบเท่าปี 2554 นั้น นายสมเกียรติ ระบุว่าปริมาณน้ำเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม มีปริมาณน้ำโดยรวมสูงจริง แต่เป็นเพียงบางแห่งในพื้นที่เขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งสามารถควบคุมได้ โดยกรมชลประทานเข้าไปบริหารจัดการการระบายน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำเข้า 2 เขื่อนนี้มากเกินไป ส่วนพื้นที่ภาคกลางยังคงเฝ้าระวังน้ำอยู่ ยืนยันว่าอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กความแข็งแรงยังดีแต่ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องคันดิน เพราะจุดที่เปราะบาง ที่ปริมาณน้ำจะไหลเข้ามา มากกว่าความจุของอ่าง โดยการระบายผ่านคันดินที่ไม่เปราะบาง ได้สำรวจไว้หมดแล้ว



ด้านพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ระบายน้ำภายใน 5 วัน แต่หากระบายน้ำไม่ทัน ให้หามาตรการควบคุมน้ำให้ได้ และหากมีน้ำลงมามากต้องดูแลพื้นที่ปลายน้ำ พร้อม แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า 3 วัน ก่อนการระบายน้ำ นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ ดูแลเรื่องสถานการณ์น้ำ เริ่มจัดตั้งและปฏิบัติงานวันพรุ่งนี้ บูรณาการร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ช่วงเดือนสิงหาคมนี้มีปริมาณน้ำไม่มาก แต่จากการติดตามสถานการณ์น้ำฝนพบว่า มีปริมาณน้ำฝนมากในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีกว่า 200 มิลลิเมตร ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีมากกว่า ร้อยละ 100 โดยในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีมากกว่า 50 แห่ง จึงต้องบริหารจัดการการระบายน้ำให้ดีและศูนย์ดังกล่าวจะวิเคราะห์ข้อมูลออกมาในแนวทางเดียว



ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก กรมชลประทานจะเป็นผู้ดูแล ซึ่งพลเอกฉัตรชัย ได้สั่งการหน่วยงานที่สร้างอ่างเก็บน้ำให้ดูแลเชิงเทคนิคร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น เกี่ยวกับจุดระบายน้ำฉุกเฉิน ซึ่งยังมีเวลาอีก 1-2 สัปดาห์ ในการเตรียมการ จนกว่าจะมีการคาดการณ์ว่าพายุจะมาจึงจะเตรียมแผนเผชิญเหตุ



ส่วนผลการประชุมและวิเคราะห์เชิงลึกพบมีอ่างเก็บน้ำ 1 แห่ง ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยการเฝ้าระวังแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ใช้เกณฑ์พิจารณาของกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทั้ง 11 แห่ง คาดการณ์ว่าอีก 1 เดือนข้างหน้า ปริมาณน้ำจะสูงขึ้นจึงมีแนวทางพร่องน้ำ โดยขณะนี้มี 2 เขื่อนที่ระดับน้ำสูงกว่าร้อยละ 90 คือ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร และเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษและเพิ่มปริมาณการปล่อยน้ำให้มากขึ้น



 



เกตุกนก ครองคุ้ม ผู้สื่อข่าว



 

ข่าวทั้งหมด

X