การจัดการเสวนาวิชาการ "80 ปีดงตาลกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ" นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำว่า นับจากนี้จะมีพายุเข้าในประเทศไทยอย่างน้อย 1 ลูก ซึ่งได้มีการเตรียมการรับมือในการเตรียมรับน้ำ ระบายน้ำ รวมไปถึงคำนวณว่า เมื่อหมดช่วงฤดูฝนแล้วจะเหลือน้ำในปริมาณเขื่อนเท่าใดเพื่อรับมือกับการเข้าสู่ฤดูแล้งต่อไป ซึ่งได้เตรียมการไว้แล้ว
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ ในเขื่อนใหญ่ โดยในเขื่อนเพชรบุรีที่หลายคนมีความกังวลใจว่ามีน้ำปริมาณมากโดยล่าสุดมีปริมาณน้ำอยู่ที่ร้อยละ 92 มีการระบายน้ำปกติ ผ่านอาคารระบายน้ำและมาตรการเสริมโดยการติดตั้งกาลักน้ำอีก 10 ชุดเพื่อเป็นการเพิ่มการระบายน้ำมากขึ้นและในช่วงนี้ ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนลดลง จึงไม่อยากให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลในเรื่องนี้
ส่วนเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะนี้เริ่มมีการระบายน้ำตามลำดับแต่ยืนยันว่าการระบายน้ำจะไม่ให้กระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อน ขณะที่เขื่อนน้ำอูน อ.พังโคน จังหวัดสกลนคร ที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 98 แต่ยังถือว่าปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วเพื่อเปรียบเทียบกัน โดยการระบายน้ำยังใช้วิธีระบายน้ำตามปกติ เสริมด้วยการใช้วิธีกาลักน้ำ พร้อมย้ำว่า ในเขื่อนขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน ได้ตรวจสอบเสถียรภาพความมั่นคง และการบริหารจัดการเป็นอย่างดี
ด้านเขื่อนขนาดกลาง ของกรมชลประทาน ที่มีกว่า 478 แห่ง ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวัง อย่างต่อเนื่อง โดยเขื่อนขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 จะมีการระบายน้ำ แบบทยอยระบายน้ำไม่ใช่การเร่งระบาย เพื่อจะได้ไม่เกิดผลกระทบ ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าในช่วงวันนี้ถึงวันที่ 4 สิงหาคม ปริมาณฝนจะน้อยลงก็จะเป็นช่วงระบายน้ำได้
ส่วนเขื่อนขนาดเล็ก ที่ถูกถ่ายโอนไปยังท้องถิ่น ทางกรมชลประทานจะยังคงเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยดูแลการบริหารจัดการน้ำ หากเข้าสู่ห้วงวิกฤต กรมชลประทานก็จะนำเครื่องมือเข้าไปช่วยเหลือด้วย
สำหรับประเด็นที่หลายคนกังวลว่า ปริมาณน้ำในปีนี้ มีมากเท่ากับปี 2554 อธิบดีกรมชลประทานยืนยันว่า แม้ในปีนี้น้ำจะมีปริมาณมากแต่ไม่ได้มากอย่างมีนัยยะสำคัญ และยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมกำหนดได้ พร้อมย้ำว่า กรมชลประทาน มีมาตรการในการเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำในทุกพื้นที่ รวมถึงสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชน อีกทั้งในปีนี้ยังมีเครื่องมือและวิธีการที่ทันสมัย มากกว่าปี 2554 จึงมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับปี 2554 อย่างแน่นอน
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมหรือสภาวะฉุกเฉินในขณะนี้ในหลายพื้นที่ภาคอีสานจังหวัดมุกดาหาร นครพนม ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้น ได้มีการระบายน้ำก่อนหน้าที่น้ำในแม่น้ำโขงจะขึ้นแล้ว และปัจจุบัน การปิดประตูระบายน้ำ บริเวณลำน้ำสำคัญ ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขงเช่น ลำน้ำก่ำและลำน้ำสงคราม เพื่อป้องกันไม่ให้แม่น้ำโขงไหลย้อนเข้ามา ขณะเดียวกันก็ใช้วิธี สูบน้ำในพื้นที่และผลักดันน้ำลงแม่น้ำโขง ส่วนแม่น้ำมูล ได้มีการติดเครื่องผลักดันน้ำ ซึ่งล่าสุดในบางพื้นที่ของอำเภอโขงเจียม ได้รับผลกระทบแต่กรมชลประทาน ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จังหวัดเร่งดำเนินการระบายน้ำ
ขณะที่แม่น้ำชีที่จังหวัดยโสธร และจังหวัดร้อยเอ็ดประสบปัญหาผนังกั้นน้ำ บริเวณลำน้ำยังซึ่งบรรจบกับลำน้ำชี ถูกกัดเซาะขาด ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขแล้ว อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยและแลกเปลี่ยนในการเสวนาในครั้งนี้ กรมชลประทาน จะนำข้อมูล ประโยชน์ที่ได้ไปใช้ในอนาคตต่อไปอีกด้วย