ททท.พาไปชมบ้านขุนพิทักษ์บริหาร อายุกว่า 100 ปี ที่อ.ผักไห่ อยุธยา

27 กรกฎาคม 2561, 17:15น.


ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้เดินทางมาชมประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำที่ตลาดลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา และช่วงบ่ายได้เดินทางมาชมบ้านเขียวหรือบ้านขุนพิทักษ์บริหาร ซึ่งเป็นบ้านทรงไทยที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 อายุเกินกว่า 100 ปี เป็นบ้านเก่าของขุนพิทักษ์บริหาร (พึ่ง มิลินทวนิช) นายแขวงเสนาใหญ่ (อำเภอผักไห่ในปัจจุบัน) ถูกเรียกว่าบ้านเขียว เพราะมีความเกี่ยวข้องกับ กิจการเดินเรือโดยสารที่เรียกว่า “เรือเขียว” ซึ่งเป็นกิจการของตระกูลท่านขุนพิทักษ์ และชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “บ้านเขียว” (เพราะเดิมทาสีเขียวเนื่องจากขุนพิทักษ์ เกิดวันพุธ) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย (ด้านหลังติดกับถนนในหมู่บ้าน ) หมู่ที่ 2 ตำบลอมฤต อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  และเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในอ.ผักไห่ และเคยเป็นสถานที่ถ่ายละครด้วย  





สมัยรัชกาลที่ 5 ขุนพิทักษ์บริหาร (พึ่ง มิลินทวนิช) เป็นนายแขวงเสนาใหญ่ คือ อำเภอผักไห่ในปัจจุบัน (เคยเข้ารับใช้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ด้วย ภรรยา คือ นางจ่าง มิลินทวนิช  ขุนพิทักษ์ เป็นเจ้าของกิจการเรือสองชั้นที่เรียกว่าเรือเขียว ซึ่งเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ (มีจำนวน 10 กว่าลำ) รับส่งผู้โดยสารระหว่างผักไห่-ท่าเตียน กรุงเทพฯ และผักไห่-ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ จึงทำให้การค้าขายบริเวณนี้ เจริญรุ่งเรือง



 



ลักษณะของบ้าน เป็นทรงปั้นหยาสองชั้นยกพื้นสูง ปลูกสร้างด้วยไม้สัก (บางส่วนเป็นตึก) หลังคามุงกระเบื้องสีน้ำตาลเข้ม ประตูหน้าต่างมีลวดลายแกะสลักอย่างประณีตบรรจง พื้นเป็นกระดานไม้สักแผ่นใหญ่ หน้าต่างและประตูใช้กลอนไม้แบบโบราณ ด้านหน้ามีสะพานไม้เชื่อมไปที่ศาลาใหญ่ริมแม่น้ำ และเรือนพักคนรับใช้หลังเล็ก บริเวณหลังบ้าน มีรูปถ่ายของขุนพิทักษ์บริหารผู้เป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งชาวบ้านในละแวกนี้ได้นำมาตั้งบูชาไว้ด้วยความเคารพต่อดวงวิญญาณเจ้าของสถานที่





ทั้งนี้ เรือนหลังใหญ่ไม่ปรากฏว่า เคยมีผู้เสียชีวิตในเรือน แม้แต่ขุนพิทักษ์ เมื่อชราภาพใกล้สิ้นอายุขัย ได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯระยะหนึ่ง จึงเดินทางกลับบ้านทางเรือ และสิ้นชีวิตในเรือระหว่างเดินทาง หลังจากขุนพิทักษ์ สิ้นชีวิตแล้ว ลูกหลานย้ายไปอยู่ภูมิลำเนาอื่น ส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ แม่จ่างภรรยาท่านขุนจึงได้ยกบ้านให้หลวง เป็นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์



ผู้สื่อข่าว: ปิยะธิดา เพชรดี



 



 

ข่าวทั้งหมด

X