ผู้ว่ากทม.เปิดป้อมมหากาฬเป็นสวนสาธารณะพร้อมอาคารนิทรรศการพระยาญาณประกาศ

24 กรกฎาคม 2561, 18:21น.


การเปิดพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ เป็นสวนสาธารณะ และเปิดอาคารนิทรรศการพระยาญาณประกาศ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เป็นประธานในพิธีเปิด โดยเยี่ยมชมพื้นที่โดยรอบและเข้าชมอาคารนิทรรศการพระยาญาณประกาศ พร้อมกล่าวว่า  กว่า 3 ปีที่กรุงเทพมหานคร เริ่มดำเนินเจรจากับชาวชุมชนภายในป้อม แม้ในระยะแรกจะไม่ราบรื่น แต่ได้เจรจาจนประสบความสำเร็จ โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ เหตุผลที่กรุงเทพมหานคร ต้องเข้ามาปรับปรุง เนื่องจากป้อมมหากาฬเป็น 1 ใน 14 ป้อม ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้สร้างขึ้น และเป็น 1 ใน  2 ป้อม ที่คงเหลืออยู่ เพื่ออนุรักษ์ไว้ ให้เยาวชนรุ่นหลังเข้ามาศึกษา และให้ประชาชนใช้เป็นพื้นที่สวนสาธารณะร่วมกัน พร้อมขอบคุณชาวชุมชนป้อมมหากาฬ และเจ้าหน้าที่ที่ให้ความร่วมมือในครั้งนี้





สำหรับ ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าใช้สวนสาธารณะ ได้ตั้งแต่เวลา 05.00-21.00 น. โดยได้ติดตั้งไฟส่องสว่างภายในป้อมจัดเจ้าหน้าที่ดูแลในพื้นที่หลังเวลา 21.00 น. และในอนาคตจะติดตั้งกล้องวงจรปิด พร้อมดำเนินการทำราวกันตก บริเวณริมคลองโอ่งอ่างคาดว่า จะเสร็จในไม่ช้า นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ ให้ช่วยกันดูแลให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสะอาด ส่วนการปรับปรุงระยะที่ 2 แบบถาวร ไม่ว่าจะปรับปรุงใดๆ จะต้องมีการหารือร่วมกับกรมศิลปากร 





นอกจากนั้น ในขณะนี้ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกรมศิลปากรเพื่อขอติดป้ายข้อมูลของป้อม โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆ ไว้ภายในอาคารนิทรรศการพระยาญาณประกาศด้วย ส่วนการติดตามความเป็นอยู่ของชาวชุมชนป้อมมหากาฬที่ได้รื้อย้ายออกไป ก็ได้มีการติดตามตามสถานที่ ที่ได้จัดหาไว้ให้



ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังกล่าวว่า ในอนาคตยังมีแนวคิดที่จะปรับปรุงพื้นที่อื่นโดยรอบตามความเหมาะสม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากจะต้องหารือกับทางกรมศิลปากร ส่วนที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานรวมทั้งในการปรับปรุงใดๆจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อดำเนินการก่อน





สำหรับโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬรัฐบาลมอบหมายให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจัดซื้อที่ดิน เพื่อปรับปรุงพื้นที่หลังป้อมมหากาฬให้สะอาดเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2502 จำนวน 21 แปลง หรือ 4 ไร่ 3 งาน 59.35 ตารางวา บ้านเรือน 28 หลัง กรุงเทพมหานครได้ซื้อที่ดินเรื่อยมาจนถึงปี 2535 ได้ประกาศบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 กรุงเทพมหานครจึงได้เวนคืนที่ดินหมดทุกแปลง





ส่วนโรงเรือนพบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 102 หลังคาเรือน เจ้าของอาคารทุกรายได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายและได้รับเงินค่าทดแทนการรื้อถอนขนย้ายอาคารจากกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2537 เหลือ 56 หลัง ที่ไม่ได้ดำเนินการรื้อถอน ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เจรจา ทำความเข้าใจ พร้อมจัดหาให้ความช่วยเหลือเรื่องกำลังคนเพื่อขนย้าย ให้ที่พักอาศัยชั่วคราว และถาวร จนผู้อาศัยภายในชุมชนยินยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ได้ทั้งหมด ช่วงปลาย เม.ย.2561

ข่าวทั้งหมด

X