การเสวนาปราบโกง ต้องแรงและเร็ว ถอดบทเรียนจากมาเลเซีย ที่จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ นายกษิต ภิรมย์ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ นายราจิบ ราชัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก แต่ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมามีการใช้อำนาจโดยมิชอบ มีคดีความเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งคดีฆาตกรรม คดีทุจริต และนายราจิบเองก็ไม่สามารถชี้แจงกับประชาชน นานาประเทศได้ ผู้นำฝ่ายค้านถูกดำเนินคดี ต้องติดหลายครั้ง ทำให้เกิดข้อครหา ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้น จึงมีการจัดตั้งกลุ่ม G24 ขึ้น มีการใช้โซเชียลต่อต้านการทุจริต หลังจากนายราจิบลงจากตำแหน่ง ทางมาเลเซียจึงจัดการเลือกตั้งทันที จากนั้นนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด จึงชนะการเลือกตั้ง และได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ต่างจากประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย นายกษิต กล่าวว่า จะต้องมีการปรับปรุงภายในองค์กรกองทัพ เพราะขณะนี้กองทัพเข้ามาเป็นรัฐบาล รวมทั้งปลัดกระทรวงต่างๆ ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างนักการเมืองและข้าราชการ ที่ผ่านมามีการทำความเข้าใจกับปลัดกระทรวงต่างๆ เพื่อชี้แจงถึงกฎหมายที่เปลี่ยนไป แต่กลับไม่มีใครมาสักคน มีเพียงการส่งตัวแทนมาเท่านั้น
ด้านรศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ระบุว่า จะต้องให้ประชาชนร่วมกับพรรคการเมือง คัดสรรนักการเมือง ไม่ส่งคนที่มีมลทินเข้าสู่วงจรอำนาจ ที่ผ่านมาทั้งในช่วงปี 2547-2548 และปี 2556-2557 ประเทศไทยมีรัฐบาลที่ทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่เมื่อมีการเคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนแปลง เราไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีการใช้ระบบประชาธิปไตยในทันที จึงต้องมองตัวอย่างจากประเทศมาเลเซียให้มากขึ้น
ส่วนตัวมองว่าประเทศไทยจะต้องเร่งดำเนินคดีทุจริตให้เร็วขึ้น หากทำได้ในช่วงระยะเวลา 2 ปี จะดีมาก เพราะพยานหลักฐานยังมีอยู่ ยังไม่หายไป และยังมองอีกว่า ระบบทางการเมืองของไทย มีการเกี่ยวโยงถึงผลประโยชน์ระหว่างหน่วยงานและตำแหน่งต่างๆ แต่ยอมรับว่าหากจะเปลี่ยนแปลงตรงส่วนนี้ก็ทำได้ยาก เพราะต้องเริ่มที่ตัวของนักการเมืองเอง หากจะมีการทุจริต กฎหมายที่คิดว่าร่างมาอย่างครอบคลุมแล้วก็ไม่ช่วยอะไร
ปภาดา พูนสุข ผู้สื่อข่าว