กรมทางหลวง เพื่อรับฟังความคิดเห็น สรุปผลการศึกษาโครงการการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบนทางหลวงหมายเลข 304 (ถ.แจ้งวัฒนะ) ระยะทาง 13กิโลเมตร หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่เป็นครั้งที่ 3 โดยถนนสายนี้ มักประสบปัญหาน้ำท่วมขังผิวถนน เมื่อมีฝนตกหนัก จนเกิดปัญหาการจราจรติดขัดตามมา ประกอบกับสภาพพื้นที่ 2 ข้าง ถ.แจ้งวัฒนะ มีการพัฒนาเป็นชุมชนเมือง และพื้นที่ว่างและพื้นที่ลุ่มที่เคยเป็นพื้นที่รองรับน้ำตามธรรมชาติลดน้อยลง ตลอดจนคูคลองในพื้นที่ถูกรุกล้ำ และขาดการขุดลอกจนไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว การฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะของประชาชน ทั้ง 3 ครั้ง ตั้งเป้า ปรับปรุงโครงการให้มีความเหมาะสม และก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยคาดว่าจะสามารถลดปัญหาน้ำท่วมขังผิวจราจร และลดปัญหาจราจรติดขัด บน ถ.แจ้งวัฒนะ ตั้งแต่วงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่-ท่าน้ำปากเกร็ด โดยมีผู้สนใจจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และตัวแทนประชาชน เข้าร่วมการประชุม
การประชุมครั้งนี้ได้นำเสนอรูปแบบการก่อสร้างและปรับปรุงระบบระบายน้ำที่เหมาะสม บน ถ.แจ้งวัฒนะ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ ประกอบด้วย เขตบางเขน เขตหลักสี่ ของกรุงเทพมหานคร และอำเภอปากเกร็ด จ.นนทบุรี ด้วยการนำเสนอข้อมูลจากที่ปรึกษาโครงการ ทั้งผู้จัดการโครงการ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนและประชาสัมพันธ์ โดยแบ่งโครงการออกเป็น 4ช่วง
ช่วงที่1 “แม่น้ำเจ้าพระยา-ห้าแยกปากเกร็ด” จะระบายน้ำไปลงคลองบางตลาด เพื่อสูบไปต่อยังแม่น้ำเจ้าพระยา โดยตั้งแต่คลองบางตลาด - ถ.ติวานนท์ (กม.10+636) ก่อสร้างด้วยวิธีการขุดเปิดวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ใต้ผิวจราจร และตั้งแต่ ถ.ติวานนท์ (กม.10+616) ถึงเชิงสะพานพระราม4 จะก่อสร้างด้วยวิธีการดันท่อลอด
ช่วงที่2 “เชิงสะพานพระราม4-ถึงคลองประปา” จะก่อสร้างด้วยวิธีดันท่อลอด สลับกับวิธีการขุดเปิดวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ใต้ผิวจราจร
ช่วงที่3 “คลองประปา-ถ.วิภาวดีรังสิต” ตั้งแต่คลองประปา ถึงเชิงสะพานข้ามคลองประปา จะใช้ท่อระบายน้ำเดิม จากนั้นตั้งแต่ช่วงเชิงสะพานข้ามคลองประปา จะก่อสร้างด้วยวิธีการขุดเปิดวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ใต้ผิวจราจร ไปจนถึงห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี สาขาแจ้งวัฒนะ แล้วเปลี่ยนไปก่อสร้างด้วยวิธีการดันท่อลอด จนถึงกรมการกงสุล แล้วจึงกลับไปใช้รูปแบบการขุดเปิดวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ใต้ผิวจราจรจนถึงคลองเปรมประชากร
และ ช่วงที่4 “ถ.วิภาวดีรังสิต-วงเวียนหลักสี่” ตั้งแต่ ถ.วิภาวดีรังสิต ถึงเชิงสะพานข้าม ถ.วิภาวดีรังสิต จะใช้ท่อระบายน้ำเดิม จากนั้นจะก่อสร้างด้วยวิธีการขุดเปิดวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ใต้ผิวจราจร ไปจนสิ้นสุดสะพานข้าม ถ.วิภาวดีรังสิต ถึงสะพานข้ามคลองถนน(กม.1+052) และจะเปลี่ยนไปก่อสร้างด้วยวิธีการดันท่อลอด ไปจนถึงสะพานข้ามคลองถนน แล้วจึงดำเนินการปรับปรุงท่อระบายน้ำเดิม ไปจนถึงวงเวียนหลักสี่
สำหรับความแตกต่างของรูปแบบการวางแนวท่อระบายน้ำของโครงการ 1.การดันท่อ จะส่งผลกระทบต่อการจราจรน้อยกว่า เนื่องจากไม่ต้องเปิดผิวจราจรเป็นแนวยาวเพื่อวางท่อ แต่จะมีค่าก่อสร้างที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่น 2.การขุดเปิดวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ใต้ผิวจราจร ค่าก่อสร้างจะถูกกว่าการดันท่อลอด เนื่องจากในการขุดวางรางระบายน้ำบริเวณเกาะกลางนั้นมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องปิดช่องจราจรเพิ่มเติม แต่จะมีการเปิดผิวจราจรเป็นแนวยาว อาจส่งผลกระทบต่อการจราจร (หากช่วงก่อสร้างไม่ได้อยู่ในแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า) 3.การปรับปรุงระบบระบายน้ำเดิม ไม่ต้องปิดการจราจร เพราะระบบเดิมจะอยู่บนบาทวิถี ค่าก่อสร้างถูกกว่าวิธีอื่น แต่จะมีพื้นที่การทำงานน้อยในบางจุด และอาจกระทบกับระบบสาธารณูปโภคอื่นๆที่อยู่บนทางเท้า
ซึ่งทั้ง 4ช่วงของโครงการจะไม่มีการเวนคืนพื้นที่เพื่อก่อสร้างสถานีสูบน้ำทำให้ดำเนินการก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงไม่มีการย้ายสาธารณูปโภคเดิม ช่วยให้มูลค่าการก่อสร้างไม่สูง โดยเบื้องต้นคิดเป็นการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 1,800ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการช่วงปลายปีนี้ หรือ ต้นปีหน้า ซึ่งจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จประมาณ 2ปี โดยภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปปรับปรุงผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดของโครงการ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นต่อไป
วริศรา ชื่นบันณฑิตนันท์ ผู้สื่อข่าว