พระราชปณิธาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้เกิดแก่ราษฎรโดยเฉพาะโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำที่มีอายุใช้งานมานานซึ่งอาจจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพทั้งด้านการป้องกันอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงทรงแต่งตั้งองคมนตรีในการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งสี่ภูมิภาค
พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เพื่อติดตามและรับฟังสรุปผลการบริหารจัดการน้ำของลุ่มป่าสักตอนบนและตอนล่าง ปัญหา อุปสรรคการดำเนินงาน การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน โอกาสนี้ได้พบปะเยี่ยมกลุ่มราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี จากนั้นได้เยี่ยมชมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และปลูกต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จังหวัดลพบุรีมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ จำนวน 26 โครงการ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จึงเป็นอีกหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2532 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ริมน้ำป่าสักและพื้นที่จังหวัดลพบุรี สระบุรี ชัยนาท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล นอกจากนี้ยังช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และอุตสาหกรรมในช่วงหน้าแล้ง
ตลอดระยะเวลา 16 ปี ที่ผ่านมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยไปแล้วถึง 10 ครั้ง สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ในเขตจังหวัดลพบุรีและสระบุรี เพื่อการเกษตรกรรม จำนวน 159,500 ไร่ เป็นแหล่งน้ำเสริมให้แก่พื้นที่ชลประทานเดิมในทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างประมาณ 2,015,800 ไร่ ส่งน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาและเพื่อการอุตสาหกรรมต่างๆ
นอกจากนี้กรมชลประทานได้มีการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยในช่วงฤดูน้ำหลากได้จัดทำโปรแกรมคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำจากเส้นทางพายุเพื่อให้สามารถพร่องน้ำออกจากเขื่อนได้ทันท่วงที และในช่วงหน้าแล้งได้ดำเนินการขุดสระโดยรอบอ่างฯ ในลักษณะหลุมขนมครกเพื่อให้ประชาชนที่อาศัยริมอ่างใช้น้ำสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้กำหนดแผนงานและกิจกรรมพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักทั้งด้านบนต้นน้ำและระหว่างทางตลอดจนปลายทางโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนโดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 7 โครงการ ระยะกลางดำเนินการแล้ว 5 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 9 โครงการ สำหรับแผนระยะยาว จำนวน 8 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ
จากนั้นในช่วงเวลา 15.30 น. องคมนตรี และคณะฯ ได้เดินทางไปยังเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท รับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ที่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ลักษณะเขื่อนมีความยาว 237.50 เมตร สูง 16.5 เมตร มีช่องระบาย 16 ช่อง สามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 265 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 5,718,000 ไร่ โดยเขื่อนเจ้าพระยา รับน้ำจากเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นหลัก สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างรวม 7.5 ล้านไร่ ผลิตไฟฟ้าพลังสะอาดได้ 61.75 ล้านหน่วยต่อปี ระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อการอุปโภค บริโภค อุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ช่วยควบคุมปริมาณน้ำเสียและน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำลำคลองต่างๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ควบคุมและป้องกันอุทกภัยในแม่น้ำเจ้าพระยา โอกาสนี้ องคมนตรี และคณะฯ ได้เยี่ยมชมเขื่อนเจ้าพระยา รวมทั้งปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป