พล.ร.ท.สมนึก เปรมปราโมทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์เรือล่ม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ในฐานะเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 3 (ศรชล.เขต 3) ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองทัพเรือ กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า กรมประมง และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการดำเนินการแก้ปัญหาของงานต่างๆ เริ่มตั้งแต่การออกจากท่าเรือ ร่วมมือกับกรมประมง ในการกวดขันอาชญาบัตรต่างๆที่กัปตันเรือต้องมี จำนวนนักท่องเที่ยวที่ชัดเจน เส้นทางการท่องเที่ยวไปที่ใดบ้าง จากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบ่งกันทำหน้าที่ต่างๆเพิ่มความระมัดระวังแจ้งเตือนให้รีบกลับหากเกิดสภาพอากาศไม่ดี เป็นมาตรการขั้นต้น ที่เริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ในช่วงบ่ายวันนี้ จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรมได้รวดเร็วมากขึ้นแม้ว่ากฏหมายต่างๆต้องมีการปรับปรุงในอนาคต แต่ต้องทำวันนี้ในรูปแบบนี้ก่อน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด ให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่น กับรัฐบาลในการทำงาน ซึ่งกองทัพเรือ ให้ความสำคัญสิ่งเหล่านี้มาก โชคดีที่มี 6 หน่วยงานร่วมทำงานในศรชล.เขต 3 จึงทำให้การวางแนวทางใหม่ในการปฏิบัติกับเรือท่องเที่ยวน่าจะราบรื่นและทำได้ไม่น่ามีปัญหา
อันดับแรกคือ เจ้าท่า ต้องกำหนดท่าเรือที่จะให้เรือท่องเที่ยวออกเรือก่อน เพื่อเกิดความคล่องตัวสามารถควบคุมได้ การออกเรือไปนั้น ต้องมีการกำกับดูแลทั้งหมด และสามารถตรวจสอบได้เชื่อมโยงข้อมูลได้ทั้งหมด อาจใช้แนวทางของPIPOเพื่อปรับใช้กับเรือท่องเที่ยว ซึ่งหน่วยงาน 6 หน่วย ภายใต้ ศรชล.เขต 3 ทำงานนี้กับเรือประมงอยู่แล้ว คาดว่า ไม่น่ายากต่อการดำเนินการปฏิบัติดังกล่าว เพราะว่า ปัญหาทุกวันนี้ ไม่ทราบจำนวนนักท่องเที่ยวในการเดินทางทางทะเล ที่ชัดเจนจึงตั้งใจทำให้เกิดความปลอดภัย เราห่วงประเทศไทย คนไทยที่ทำอาชีพนี้ อาจมีคนที่เสียประโยชน์บ้างอาจยุ่งยากบ้างแต่ต้องยอมรับว่าปัญหาเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วแก้ไขยาก
ดังนั้น ถ้าได้ทำตามแนวคิดนี้คาดว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ในการปรับการทำงาน การช่วยเหลือค้นหาเมื่อเกิดประสบภัยขึ้นจะได้มีฐานข้อมูล ไม่เกิดความสับสนในตัวเลขและข้อมูล นักท่องเที่ยว หากเรือท่องเที่ยวลำใดไม่ออกเรือ ตามท่าเรือ ที่กำหนด ถือว่า ผิดกฏหมายต้องให้เจ้าท่าประกาศ ว่า จะให้เรือท่องเที่ยวออกท่าเรือใดได้บ้าง เช่น ท่าเรืออ่าวฉลอง ท่าเรืออ่าวปอต้องกำหนด มีมาตรการออกมานำมาปรับใชัให้ถูกต้องการทำงานจะได้สมบูรณ์มากขึ้น การปรับแนวทางใช้กับเรือท่องเที่ยว อาจทำให้ ท่าเรือเล็กๆ เดือดร้อน เพราะว่า เมื่อกำหนดจุดการเข้าออกท่าเรือต้องถือปฏิบัติตามนั้น ต้องออกเรือเฉพาะท่าที่กำหนดเท่านั้น
ขณะนี้เป็นช่วงโลว์ซีซั่น จะเริ่มดำเนินการ ที่จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก จากนั้นขยายผลการปฏิบัติ ไปยังจังหวัดต่างๆ ภายใต้ความรับผิดชอบพื้นที่ของศรชล.เขต 3 ที่รับผิดชอบพื้นที่ 6 จังหวัดทางฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้ต้องมีการหารือทั้ง 6 จังหวัด ขณะเดียวกัน จังหวัดต่างๆในภาคใต้เริ่มปฏิบัติกันบ้างแล้วแต่ศรชล.เขต 3 จะกำกับเป็นรูปธรรมให้ดียิ่งขึ้น ต่อไป
ผู้สื่อข่าว:อชัถยา ชื่นนิรันดร์