จ.ภูเก็ต ตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลประสบเหตุเรือล่ม 43 ราย ดูแลจัดพิธีทางศาสนา

11 กรกฎาคม 2561, 15:17น.


การตรวจอัตลักษณ์บุคคลผู้เสียชีวิตจากเหตุเรือล่มที่จ. ภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า มีศพผู้เสียชีวิตอยู่ที่ รพ.วชิระภูเก็ต 45 ราย สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลทราบชื่อนามสกุลแล้ว 43 ราย เมื่อวานนี้ มีการเผาศพ จำนวน 5 ศพ จังหวัดจัดพิธีสวดพระอภิธรรมศพ ทุกคืน ที่วัดโฆษิตวิหาร อ.เมือง จ.ภูเก็ต และเผาศพอย่างต่อเนื่อง มีการนำศพออกจากประเทศไทย แล้ว  2 ราย การเผาศพหรือเอาศพกลับขึ้นกับความสมัครใจของญาติ ในวันนี้ ทำการเผาอีก 7 ศพ จังหวัดพร้อมอำนวยความสะดวกช่วยเหลือทุกอย่าง และเมื่อเช้าได้จัดพิธีเรียกขวัญ ส่งวิญญาณผู้เสียชีวิตสู่สุคติ ที่บริเวณท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง



การปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเรือล่ม จังหวัดภูเก็ต ได้เริ่มเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ทันทีที่รับแจ้งมีการตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเรือล่มและประสานงานบูรณาการร่วมกับศรชล.เขต3 ภาคเอกชน เรือประมงพาณิชย์ส.พัฒนา 11 และ ส.พัฒนา 12  ได้ช่วยชีวิตนักท่องเที่ยวและร่วมค้นหากันตลอดในจุดวิกฤตินั้นเรือเล็กเข้าถึงไม่ได้ต้องใช้เรือลำใหญ่ออกให้การช่วยเหลือ นำขึ้นฝั่งที่ท่าเรือเอกชน แพปลาพิชัย แพปลาจิตไพบูลย์  รวมทั้งมีทีมกู้ภัย หลายหน่วยงานเข้าให้การช่วยเหลือ



เหตุการณ์นี้ ทางจังหวัดภูเก็ต ขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ขอบคุณทีมอาสาสมัคร ดำน้ำเอกชน ครูสอนดำน้ำ  ตำรวจน้ำ กองทัพเรือ ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัดจะมอบโล่ห์ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป



นอกจากนี้ ขอบคุณเป็นอย่างสูง  ทางการจีน ส่งเจ้าหน้าที่ กงสุล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มาร่วมสนับสนุนชุดกู้ภัย ชุดดำน้ำ มาช่วยค้นหา  การค้นหายังไม่ยุติ ทำกันต่อเนื่องจนกว่าจะครบทั้งหมด  ถ้าจะยุติการค้นหาเมื่อใดต้องเป็นการตกลงร่วมกันกับทางการจีน



ด้านพ.อ.ศานติ ศกุนตนาค เสนาธิการ มทบ.45 กล่าวว่า กองทัพภาคที่ 4 โดย มทบ.41และ  มทบ.45  สนับสนุนค้นหาผู้สูญหาย ทางเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ลำ บริเวณพื้นที่ชายฝั่งต่างๆในจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และลาดตระเวนเดินเท้า ร่วมกับ ภาคประชาชน วิทยุเครื่องแดง ประมงพื้นบ้าน ตามเกาะแก่งต่างๆ มีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง



นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 ในฐานะผู้แทน อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่าประสานงานกับศรชล.เขต 3 ในการร่วมประสานงานช่วยเหลือด้านนี้  ในส่วนที่ยังค้นหาอีก 2 ราย คาดว่า อาจติดอยู่ใต้ท้องเรือ อาจต้องพลิกเรือ การพลิกเรือต้องระมัดระวังให้เรือเกิดความเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งตามกฏหมายเมื่อเรือจม เจ้าท่า ต้องกู้เรือขึ้นมาเรื่องนี้เกี่ยวข้องมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก และเรือเป็นหลักฐานทางคดี การกู้เรือต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง เนื่องจาก จุดที่เรือจม มีความลึก 45 เมตร ต้องใช้นักประดาน้ำใช้เครน 400ตันนำเข้ามาจากมาเลเซีย  โอบอุ้มมาให้เรือตั้งตรงสูบน้ำออกเก็บหลักฐานทุกอย่างให้ดีที่สุดและเก็บรักษาไว้ในเขตหวงห้าม การทำงานมีข้อจำกัด ในสภาพอากาศต้องใช้เวลา ในการเก็บกู้ 15 วัน การเตรียมเครื่องมืออีก 10 วัน การกู้เรือเป็นสิทธิ์ของเจ้าของเรือ และ ประกันภัย เรือลำนีมีการทำประกันภัยตัวเรือไว้ อยู่แล้ว



นอกจากนี้ กรมเจ้าท่า ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุเรือล่มแล้ว  การสอบสวนใช้ข้อมูลหลักฐานแวดล้อม  สภาพอากาศ สภาพตัวเรือ องค์ประกอบอีกหลายด้าน เข้ามาสอบสวนการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้  ซึ่งการตัดสินใจนำเรือเข้าหรือออกทะเลขึ้นกับอยู่กับกัปตันเรือ



ผู้สื่อข่าว:อชัถยา ชื่นนิรันดร์



 



 

ข่าวทั้งหมด

X