การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครั้งแรกในประเทศ กรณีศึกษาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจัดขึ้นโดยโครงการดีแทคพลิกไทย แพลทฟอร์มออนไลน์ สำหรับโครงการเพื่อสังคม โดยบริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยอมรับว่า สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวไทย ปัจจุบันยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2559 พบว่ามีคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวมากถึง 466 คดี และถึงขั้นเสียชีวิต ถึงร้อยละ 83 ส่วนใหญ่ผู้ชายจะเป็นผู้ก่อความรุนแรง โดยมีฉนวนเหตุมาจากความหึงหวง ภรรยาไม่ยอมคืนดีด้วย ขณะเดียวกัน ก็พบข้อมูลภรรยาเป็นผู้ฆ่า จากสาเหตุการทนทุกข์กับการถูกกระทำรุนแรงมาก่อน
ความรุนแรงในครอบครัวสะท้อนถึงทัศนคติถูกปลูกฝังว่าผู้ชายเป็นใหญ่ ทั้งการเป็นเจ้าของ การครอบครอง การใช้กำลังบังคับข่มขู่ทำร้ายร่างกาย จนถึงขั้นร้ายแรงที่สุดคือการฆ่า พร้อมยอมรับว่า การเปลี่ยนความคิดในเรื่องดังกล่าวประเทศไทยทำได้ช้ามาก มีการตอกย้ำผ่านละคร สื่อโทรทัศน์ โดยปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกชนชั้น ขณะเดียวกันก็มีผู้ชายเข้ามาปรึกษาเพราะถูกกระทำการรุนแรง สำหรับประเภทชายรักชาย และชายถูกคุกคามทางเพศ แต่มีอัตราส่วนน้อยกว่าผู้หญิง โดยมีปัจจัยการกระตุ้นความรุนแรง คือ แอลกอฮอล์ ยาเสพติด และการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง
พันตำรวจโทหญิงเพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ อาจารย์จากสถาบันส่งเสริมงานสอบสวนและผู้เสนอโครงการ โปลิศน้อย เปิดเผยถึง สถิติความรุนแรง พบว่า ในแต่ละปีจะมีผู้หญิงถูกข่มขืนจำนวน 30,000 ราย แต่จะมีเพียง 4,000 รายเท่านั้นที่เข้าแจ้งความ และมีเพียง 2,400 คดีเท่านั้นที่ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี
จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนถึงปัญหา ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกกระทำ ผู้เสียหายส่วนใหญ่เลือกที่จะเก็บเงียบ ไม่ประสงค์จะแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว กลัวอับอาย กลัวถูกข่มขู่ หรืออยู่ในสภาวะต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อผู้กระทำความผิด ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นผู้ชายยังติดความคิดในเรื่องชายเป็นใหญ่ และมีหลายกรณีที่ตำรวจผู้ชายเป็นผู้ข่มขู่ภรรยาของตนเอง
พันตำรวจโทหญิงเพรียบพร้อม ระบุว่า จากปัญหานี้จึงมีความคิดทำหุ่นยนต์ AI ในการให้คำปรึกษากับผู้ที่ประสบปัญหาความรุนแรง ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ผ่านทางแอพพลิเคชั่น LINE และ Facebook Messenger คาดว่าภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้จะสามารถเปิดใช้ได้และยืนยันว่าชุดคำตอบของ โปลิศน้อย ผ่านการคัดกรองจากแพทย์ ทีมจิตวิทยาในการใช้คำพูดต่างๆ ที่ลดปัญหาการตีความผิดพลาดจากมุมมองในแง่ลบของผู้ประสบปัญหา และยังเตรียมขยายไปเป็นภาษาเขมรและพม่าด้วย
สำหรับโครงการนี้ได้รับทุนจากดีแทคเบื้องต้น 100,000 บาทในการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาหุ่นยนต์ซึ่งได้ ดร. วินน์ วรวุฒิคุณชัย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลประจำเทเลนอร์เอเชีย เข้ามาช่วยพัฒนาหุ่นยนต์ โปลิศน้อยด้วย