กล้วยหอมทองไร้สารพิษ ส่งออกไกลถึงญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์จากสหกรณ์เกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี

10 กรกฎาคม 2561, 16:49น.

การติดตามสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” มุ่งหวังนำอุตสาหกรรมไมซ์ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ช่วงบ่ายได้เข้าชมโรงงานส่งออก “กล้วยหอมทอง” กล้วยหอมไร้สารพิษ ผลิตภัณฑ์จากสหกรณ์เกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี ส่งออกไกลถึงญี่ปุ่น
นายสนธยา บุญประเสริฐ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มสหกรณ์บ้านลาด ที่ทำกล้วยหอมทองส่งออกญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมปลูกกล้วย ที่ไม่ใช้สารเคมี โดยต้องเลือกหน่อกล้วยที่สมบูรณ์นำมาปลูก ส่วนการดูแล จะรดน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2ครั้ง ใส่ปุ๋ยตามปกติ แต่ละต้นใช้ระยะเวลาปลูกประมาณ 9-10เดือน กว่าทางสหกรณ์จะดำเนินการตัดมาขายได้ เมื่อตัดกล้วยออกมาที่โรงงาน โรงงานจะมีหน้าที่แบ่งขนาด ทำความสะอาด เพื่อแยกเป็นส่งขายภายในประเทศ กับส่งออกต่างประเทศ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนบ่มด้วยความเย็น 24ชม. และบรรจุใส่ถุง ก่อนทยอยขนส่งไปที่ต่างๆ สำหรับกล้วยที่ส่งในประเทศ จะใช้เวลาจากหน้าโรงงานถึงหน้าร้านรวมประมาณ 36ชม. ซึ่งกล้วยกลุ่มนี้จะมีสีกระดังงา ความสุกประมาณ 80% น้ำหนักต่อลูกไม่ต่ำกว่า 120กรัม หลักๆจะส่งที่ร้านค้าสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น ซึ่งต่อวันจะส่งประมาณ 10,000ลูก และอีกส่วนจะส่งให้ร้านแฟมิลี่มาร์ทอีก 3,000ลูกต่อวัน โดยราคาขายอยู่ที่ 4-5บาท เกษตรกรจะได้ราคาลูกละ 2บาทจากราคาขาย ส่วนเงินที่เหลือนำเข้าสหกรณ์เพื่อเป็นเงินสะสม ในการช่วยเหลือสมาชิก เช่น สมาชิกใหม่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือเวลาเกิดเหตุน้ำท่วม ได้รับความเสียหาย จะนำเงินสะสมมาช่วยสมาชิกเกษตรกร ซึ่งตนนั้นพอใจกับการจัดการในรูปแบบของชุมชน นับจากมีสหกรณ์มา 6ปี ถือว่าสะดวกสบายขึ้น มีตลาดรองรับ ไม่ต้องหาตลาดเองทั้งหมด รายได้ถือว่าแน่นอน หากไม่ประสบปัญหาอุทกภัย อย่างตอนน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2560 ตนได้รับผลกระทบ แต่ทางสหกรณ์ก็ได้ช่วยเรื่องหน่อกล้วยใหม่นำมาปลูก นอกจากนี้ตนอยากให้รัฐบาลช่วยควบคุมบริษัทเอกชนรายใหญ่ ที่เข้ามาแทรกแซง เพราะส่งผลกระทบให้สมาชิกในชุมชนที่เป็นกลุ่มชาวบ้าน อย่างเช่น การโดนแย่งตลาด

ส่วนการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นนั้น ก็เป็นมาตรฐานคล้ายกับในประเทศ คือไร้สารพิษและผลกล้วยที่สมบูรณ์ ต่างตรงที่ส่งออกต่างประเทศจะตัดก่อนประมาณ 2-3สัปดาห์ หรือความสุกที่ 70% น้ำหนักลูกละประมาณ 200กรัม แต่จะตัดแบ่งเป็น 4ลูกขึ้นไปต่อ 1ช่อ ก่อนล้างและเป่า เช็ดทำความสะอาดให้แห้ง นำบรรจุลงใส่กล่อง กล่องละไม่เกิน 13กก. ขายกิโลกรัมละ 25บาท ส่วนรสชาดของกล้วยที่ส่งออกนั้นจะจืดกว่า รวมทั้งน้ำตาล ความหวานก็จะน้อยกว่า แต่เนื้อจะแน่นกว่า ซึ่งคนญี่ปุ่นก็จะชอบในรสชาติมาตรฐานนี้ โดยจากที่ตนเคยเดินทางไปดูงานประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งได้พูดคุยกับผู้บริโภคที่ญี่ปุ่น ก็ระบุว่าพึงพอใจกับกล้วยที่ส่งออกไป สำหรับปริมาณการส่งออกจะอยู่ที่สัปดาห์ละ 1ครั้ง ครั้งละประมาณ 3ตัน โดยส่งผ่านทางเรือที่จะใช้เวลาประมาณ 14-20วัน จากไทยไปญี่ปุ่น เมื่อไปถึงกล้วยก็จะใกล้สุก พร้อมรับประทานได้ทันที

นายสนธยา บุญประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น และสร้างผลผลิตให้คุ้มค่า เพื่อสร้างรายได้ในอนาคต ส่วนกล้วยที่ขายเป็นผลสดๆไม่ได้ อย่างเช่น ผิวไม่สวย หรือน้ำหนักไม่ถึง ปัจจุบันจะนำมาแปรรูปเป็น กล้วยเบรคแตก กล้วยหอมกวน ราคาต่อกล่องหรือห่อ ประมาณ 30-35บาทเท่านั้น ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป และพ่อค้าแม่ค้าที่รับไปจำหน่ายต่ออีกด้วย

ผู้สื่อข่าว :วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์
ข่าวทั้งหมด

X